หูของเราเคยเป็นจมูกมาก่อน
หูที่เราใช้ได้ยินในปัจจุบันนี้อาจมีวิวัฒนาการเริ่มแรกมาจากท่อที่ใช้หายใจ
หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาโครงกระดูกโบราณของฟอสซิลของปลาที่มีอายุ 370 ล้านปี ก็พบว่า หูที่เราใช้ได้ยินในปัจจุบันนี้อาจมีวิวัฒนาการเริ่มแรกมาจากท่อที่ใช้หายใจ
นักชีววิทยาที่ทำการศึกษาด้านวิวัฒนาการมีความสนใจมากว่า อวัยวะที่ใช้รับรู้ความรู้สึกต่างๆที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมากนี้ วิวัฒนาการมาจากอีกอวัยวะหนึ่งที่มีหน้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในรุ่นบรรพบุรุษของเราได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น กระดูกโครงสร้างของปลาโบราณ ที่ได้พัฒนามาเป็นหูนั้น ดูเหมือนว่าแต่ก่อนกระดูกส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย ช่วงส่วนของแก้มและกราม แต่ว่ากระบวนการในการวิวัฒนาการมาเกิดเป็นหูได้นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเกิดได้อย่างไร
Panderichthys เป็นปลาชนิดหนึ่งที่เชื่อว่ามีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับสัตว์สี่เท้าในยุคแรกๆ
หูเป็นอวัยวะที่ศึกษาได้ง่ายกว่าอวัยวะอื่นเพราะว่า ประกอบด้วยกระดูกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้มันยังคงสภาพในฟอสซิลได้ ในขณะที่อวัยวะที่มีหน้าที่พิเศษเฉพาะตัวเช่น ตา และจมูก ก็เน่าเปื่อยไปก่อนหน้านานแล้ว ดังนั้น Martin Brazeau และ Per Ahlberg จาก Uppsala University ในประเทศสวีเดน จึงได้ตัดสินใจที่จะสำรวจอวัยวะที่เหมือนหูของ Panderichthys สัตว์โบราณที่มีความยาว 1 เมตร ที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ Latvian Natural History ในเมือง Riga
Panderichthys เป็นปลาชนิดหนึ่งที่เชื่อว่ามีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับสัตว์สี่เท้าในยุคแรกๆ ที่ได้เริ่มขึ้นจากน้ำมาอาศัยบนพื้นดิน และเป็นต้นกำเนิดของสัตว์มีกระดูกสันหลังในยุคปัจจุบันนี้ด้วย
โดยพวกเขาพบว่า กระดูกที่ทำหน้าที่เป็นโครงในส่วนหัวมีลักษณะที่ผสมกันทั้งของปลาและสัตว์สี่เท้า ซึ่งนี่เปรียบเหมือนการได้เห็นภาพถ่ายการทำงานของวิวัฒนาการ ในช่วงที่มันมีการเปลี่ยนแปลงพอดี
กระดูกโกลน (stapes) ในหูชั้นกลาง ที่ทำหน้าที่ส่งผ่านคลื่นเสียงในกะโหลกศีรษะของเรา
ปลาโบราณมีช่องทางแคบๆจากกะโหลกศีรษะมาที่ปาก ที่เรียกว่า spiracle ซึ่งช่องนี้ประกอบด้วยกระดูกยาวๆที่เรียกว่า hyomandibular ซึ่งทำหน้าที่ค้ำส่วนแก้มเอาไว้ ส่วนในสัตว์สี่เท้ากระดูกนี้จะสั้นและหนากว่า ซึ่งถือว่าเป็นขั้นที่เกิดก่อนการพัฒนาไปเป็นกระดูกโกลน (stapes) ในหูชั้นกลาง ที่ทำหน้าที่ส่งผ่านคลื่นเสียงในกะโหลกศีรษะของเรา
โดยนักวิจัยได้พบว่าปลา Panderichthys มี spiracle ที่กว้างและตรง แทนที่จะแคบและสั้นอย่าง hyomandibularทั่วไป นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มได้เคยตั้งสมมติฐานว่าหูในสมัยก่อนน่าจะมีหน้าที่ในการหายใจ และหลักฐานที่พบใหม่จากฟอสซิลนี้ ทีมของ Brazeau และ Ahlberg เชื่อว่า spiracle ที่กว้างขึ้นใน Panderichthys อาจทำหน้าที่เป็นท่อในการหายใจ แบบที่พบในฉลามและปลากระเบนของยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งอวัยวะนี้ช่วยให้ปลาสามารถดูดน้ำเข้าทางเหงือกในขณะที่นอนอยู่บนพื้นทะเลโดยไม่ต้องดูดเอาพวกหินทรายปนเข้ามาทางปากได้
การศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของอวัยวะ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและถือว่าเป็นหลักฐานที่คัดค้านแนวคิดผู้สร้างโลกคือพระเจ้า ที่กล่าวว่าอวัยวะที่ใช้รับรู้สัมผัสนั้นมีโครงสร้างที่ซับซ้อนมากจนน่าจะต้องเกิดจากการสร้างสรรค์ของสิ่งมีชีวิตที่เหนือมนุษย์ธรรมดา
ข้อมูลจาก Our ears once breathed
- Brazeau M. D.& Ahlberg P. E. Tetrapod-like middle ear architecture in a Devonian fish. Nature, 439. 318 - 321 (2006)