City Sickness 5 โรคฮิต บั่นทอนชีวิตคนเมือง
City Sickness 5 โรคฮิต บั่นทอนชีวิตคนเมือง
ด้วยวิถีชีวิตที่มีความคล้ายคลึงของผู้คนในเมืองใหญ่ที่แม้อยู่ห่างไกลคนละซีกโลก กลับมีปัญหาสุขภาพไม่แตกต่างกัน เรามีข้อมูล 5 โรคที่ขับเคี่ยวกับความเจริญของโลกใบนี้มาฝากค่ะ
โรคระบบทางเดินหายใจ
มลภาวะเป็นพิษ สาเหตุหลักของโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด ไซนัส หวัด ภูมิแพ้ องค์การอนามัยโลกรายงานว่าโรคที่คร่าชีวิตคนทำงานมากที่สุดในปัจจุบันคือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยมีอัตราเฉลี่ยสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งโลก นอกจากนี้รายงานทางการแพทย์ของไทยยังพบว่าคนกรุงฯ มีอัตราผู้ป่วยภูมิแพ้สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ต้นเหตุแห่งมลพิษมาจากโรงงานอุตสาหกรรมตามหัวเมืองใหญ่ทั่วโลกปล่อยหมอกควันพิษเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งไอเสียจากรถยนต์ที่มีปริมาณมากขึ้นทุกวัน
อาการเบื้องต้นของภูมิแพ้เริ่มจากเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย โดยไม่ได้มาจากการเจ็บป่วย หายใจไม่สะดวก ป่วยกระเสาะกระแสะ เหมือนเป็นไข้หวัดตลอดเวลา คัดจมูก น้ำมูก น้ำตาไหล แต่ไม่มีไข้
ป้องกันง่ายๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลารถติด พักอาศัยอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท หรือไปสูดอากาศนอกเมืองบ้าง และออกกำลังกายเป็นประจำ
โรคเครียดและโรคทางจิตเวช
อาการพื้นฐานมีตั้งแต่ปวดศีรษะเรื่อยไปถึงซึมเศร้า หดหู่ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานจะพัฒนา ไปสู่โรคทางจิตเวช แพทย์ศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ข้อมูลว่า “คนที่อยู่ในช่วงอายุ 25 –35 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มักจะเป็นโรคเครียดมากกว่าวัยอื่น เรียกว่าโรคผู้บริหาร เพราะอายุที่มากขึ้น ร่างกายเสื่อมลงตามวัย แต่กลับมีภาระรับผิดชอบหนักขึ้น”
ยังมีอีกหนึ่งอาการที่น่าสนใจ รู้จักกันในชื่อ ADT (Attention Deficit Trait) หรืออาการสมาธิสั้นในการทำงาน ADT ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของสมอง หากเกิดจากความไม่ปกติของบุคลิกภาพเนื่องจากต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา ผู้ป่วยไม่สามารถจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งได้นานๆ ไม่มีความอดทน และมักมีปัญหากับการจัดลำดับความสำคัญและการบริหารเวลา
อาการเหล่านี้หายได้ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานใหม่ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดคาร์โบไฮเดรต และแอลกอฮอล์ หากไม่ดีขึ้นควรพบจิตแพทย์ หลายองค์กรทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น จัดให้มีมุมนั่งเล่นในสวนสวย มุมทำสมาธิ มุมรับประทานอาหารว่าง มุมดูหนังฟังเพลง บริการนวดคลายเครียดในที่ทำงาน สปอร์ตคลับ การเพิ่มเวลาพักทุกๆ ชั่วโมง เป็นต้น
อาการผิดปกติทางกล้ามเนื้อ
ในยุคไอทีแทบทุกคนบนโลกต้องนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทำให้ตาพร่ามัว (Computer Vision Syndrome) รังสีจากหน้าจอทำให้กล้ามเนื้อตาตึงเครียด อาการเหล่านี้หากทิ้งไว้นานจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย การพักสายตาด้วยการหลับตาหรือมองต้นไม้ใบหญ้าจะช่วยลดความเมื่อยล้าของดวงตา
กล้ามเนื้อเมื่อยล้า (Carpal Tunnel Syndrome) เป็นอาการเครียดของกล้ามเนื้อเมื่อใช้งานต่อเนื่องนานๆ เช่น การกดแป้นคีย์บอร์ด ทำให้ข้อกระดูกนิ้วเสื่อม กล้ามเนื้อไหล่ตึงและเจ็บปวด การขยับเมาส์ไปมาทำให้ปวดกระดูกข้อมือ และอาจเกิดพังผืดที่โพรงเส้นประสาทข้อมือหรืออุโมงค์ข้อมือ หากทิ้งไว้นานอาจปวดเรื้อรังถึงขั้นพิการ
บรรเทาได้ด้วยการพักข้อมือ รับประทานยาแก้ปวด ในบางรายที่อาการหนักอาจต้องสวมอุปกรณ์ประคองข้อมือ หรือฉีด corticosteroids เพื่อลดการเจ็บปวด
อีกวิธีที่ช่วยลดปัญหาได้คือ ปรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะกับสรีระ เช่น จัดมอนิเตอร์ให้ห่างจากตัวอย่างน้อย 16 นิ้ว จอภาพควรอยู่ระดับเดียวกับสายตา ใช้แผ่นกรองแสงเพื่อป้องกันรังสีหรือเลือกใช้จอถนอมดวงตา ควรปรับแสงสว่างหน้าจอให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลาด้วย ขณะใช้คีย์บอร์ดและเม้าส์ให้วางท่อนแขนขนานกับพื้น มีแผ่นรองข้อมือเพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหวและการเสียดสี ปรับระดับเก้าอี้ให้นั่งสบาย ขาตั้งฉากกับพื้น ซึ่งถือเป็นท่าที่ถูกต้อง
โรคปลายประสาทอักเสบ (Polyneuritis)
เกิดจากความผิดปกติของประสาทส่วนปลาย เป็นผลกระทบจากโรคเครียดและกล้ามเนื้อ อักเสบ การได้รับสารพิษหรือโลหะหนักอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการนั่ง ยืน หรือยกของในท่าไม่ถูกต้องเป็นเวลานานๆ จนเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตั้งแต่บริเวณคอ ลงไปที่ไหล่ เรื่อยไปถึงกระดูกสันหลังและช่วงเอว ทำให้ทรงตัวไม่ได้ ร่างกายอ่อนปวกเปียก ชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้า หากปล่อยไว้กล้ามเนื้อจะลีบ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
โรคนี้พบบ่อยในคนทำงานนั่งโต๊ะรวมทั้งคนที่อาศัยในเขตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริเวณที่มีมลพิษหนาแน่น ป้องกันได้โดยการนั่ง ยืน เดิน ในท่าที่ถูกต้อง นวดคลายกล้ามเนื้อสม่ำเสมอ และอยู่ในสถานที่ที่สภาพแวดล้อมดี อากาศดี
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ความรีบเร่งทำงาน รถติด ห้องน้ำไม่สะอาดทำให้สาวๆ เลือกที่จะกลั้นปัสสาวะ โดยไม่รู้เลยว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มเป็นเท่าตัว ทำให้กระเพาะปัสสาวะบวม ผู้หญิงมีท่อนำปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย เชื้อโรคจึงย้อนกลับเข้าไปสู่กระเพาะปัสสาวะ และเกิดการติดเชื้อได้ โรคนี้จะทำให้คุณมีอาการปวดปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้ง ใน 1 วัน หรือปวดปัสสาวะกระปริบกระปรอย ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ จนรบกวนการนอนหลับ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ในรายที่เพิ่งเริ่มเป็นรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาเพียง 1 สัปดาห์
สร้างเกราะกำบังโรค
วิธีการดูแลตนเองจากโรคภัยทั้งปวง มีบทสรุปออกมาเหมือนกันทั่วโลก คือ การรับประทานอาหารสด สะอาด ครบหมวดหมู่ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในเมืองใหญ่ คุณควร...
- หลีกเลี่ยงการพักอาศัยในแหล่งอุตสาหกรรมหรือออฟฟิศ ทาวเวอร์ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการจัดโซนนิ่งที่พักอาศัยอย่างเป็นระบบ
- ตื่นเช้าขึ้นอีกนิดเพื่อทำอาหารง่ายๆ นำไปรับประทานมื้อกลางวัน มั่นใจได้ว่าอร่อย สะอาด แถมยังประหยัดเวลาเดินทาง และรอซื้ออาหารได้อีก
- ขณะนั่งทำงานหาวิธียืดเส้นยืดสาย หรือลุกเดินให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ้าง
- จัดตารางเวลาการทำงานใหม่ หาเวลาผ่อนคลายความเครียดและเล่นกีฬาสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาทีเป็นอย่างน้อย
FW