ชี้ร่างกายรับรังสีแค่เพียงเล็กน้อย เพิ่มความเสี่ยงป่วยโรคหัวใจ
เว็บไซต์ข่าววิทยาศาสตร์ สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า นักวิจัยเมืองผู้ดีเตือน การที่ร่างกายคนเราได้รับรังสีแม้ในปริมาณ เล็กน้อย แต่เพิ่มความเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้
ดร.มาร์ก ลิตเติ้ล หัวหน้าคณะนักคณิต ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งลงมือทำ การวิจัย เผยว่า จากการใช้แบบคำนวณทางคณิตศาสตร์พบว่า รังสีมีคุณสมบัติทำลายโมโนไซต์ (Monocytes) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่คอยเดินทางไปตามผนังหลอดเลือดและทำหน้า ที่กำจัดโปรตีน "เอ็มซีพี-1" (MCP-1)
จากความรู้ในปัจจุบันเชื่อว่าเอ็มซีพี-1 ถ้ามีมากเกินไปจะก่อให้เกิดอาการอักเสบของหลอดเลือดและหัวใจ ถ้าร่างกายมีโมโนไซต์ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้โปรตีนดังกล่าวออก อาละวาด เพิ่มความเสี่ยงป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหัวใจมากขึ้น และโอกาสเกิดโรคยิ่งสูงขึ้น ถ้าคนๆ นั้นบริโภคอาหารไขมันสูง
ข้อสรุปนี้ได้มาจากข้อมูลทางสุขภาพ ของพนักงานในโรงงานนิวเคลียร์
"เป็นครั้งแรกที่พบกลไกเพื่อใช้อธิบาย ความเสี่ยงโรคหัวใจจากการทำงานเกี่ยวกับรังสีตามที่เคยมีงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ระบุว่า ผู้ได้รับรังสีจากการทำงานเป็นเวลานานๆ มักเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ดังนั้นการได้รับรังสีแม้เป็นปริมาณน้อย เช่น รังสีทางการแพทย์ รังสีเอกซเรย์ในการทำฟัน อาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่คิด นอกเหนือจากการทำให้เป็นมะเร็งอย่างที่เชื่อกันในขณะนี้" คณะของดร.ลิตเติ้ล ระบุ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มจากสถาบันอื่นๆ มีความเห็นขัดแย้งกับสมมติฐานต้น อาทิ ศาสตราจารย์ริชาร์ด เวกฟอร์ด จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ซึ่งเคยทำงานกับสถาบันเชื้อเพลิงนิวเคลียร์อังกฤษ กล่าวว่า การศึกษานี้น่าสนใจ แต่ต้องมีกลไกทางชีววิทยาและกลไกที่ทดลองได้จริงๆ มาสนับสนุนแบบคำนวณทางคณิตศาสตร์ก่อนจะไปสรุปว่า การได้รับรังสีปริมาณเล็กน้อย สามารถเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจขึ้น