กระดาษ : อดีตและอนาคต (2)
ปัจจุบันโลกผลิตกระดาษประมาณปีละ 300 ล้านตัน คนอเมริกันคนหนึ่งๆ ใช้กระดาษเฉลี่ยปีละ 330 กิโลกรัม ในรูปของหนังสือพิมพ์วัสดุห่อของกระดาษโฆษณา ฯลฯ คนญี่ปุ่นนิยมใช้กระดาษพับรูปสัตว์ (origami) ทำว่าว ร่ม และม่านบังตา เป็นต้น ถึงแม้ประวัติความเป็นมาของกระดาษจะยาวนานเกือบ 2,000 ปีก็ตาม แต่องค์ประกอบหลักของกระดาษก็ยังคงเหมือนเดิมคือ กระดาษต้องมีน้ำและใยเซลลูโลส และพันธะเคมีระหว่างโมเลกุลทั้งสองชนิดนี้เองทำให้กระดาษแข็ง
แต่กระดาษก็เช่นเดียวกับวัสดุอื่นๆ คือมีการสลาย เพราะเมื่อเวลาผ่านไปนาน เนื้อกระดาษที่เคยมีสีขาว หรือหมึกกระดาษที่เคยมีสีดำจะกลายสภาพ คือ เปราะ หัก และหมึกจะขาดความคมชัด ดังนั้นนักอนุรักษ์กระดาษจึงต้องคิดหาหนทางเก็บกระดาษที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ให้คงสภาพดีตลอดไป เช่น หอสมุดรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาใช้วิธีบรรจุหนังสือล้ำค่าลงในกล่องพิเศษที่ได้รับการปกป้องมิให้มีความชื้น หรือฝุ่นละอองมารบกวน ส่วนกรณีเอกสารที่ถูกตีพิมพ์ในสมัยสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งได้ถูกมอดไชเป็นรูเล็กก็ได้รับการซ่อม โดยนักอนุรักษ์ใช้วิธีเติมเนื้อกระดาษชนิดเดียวกันลงในรูเหล่านั้นให้กลมกลืน
เทคโนโลยีอวกาศก็ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์กระดาษเช่นกัน โดยนักอนุรักษ์ใช้กล้องถ่ายภาพที่ใช้ในดาวเทียมจารกรรม ถ่ายภาพตัวอักษรที่ปรากฏบนกระดาษ การมีประสิทธิภาพในการเห็นสูง จะทำให้กล้องสามารถเห็นความเข้มของหมึกได้อย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อความเข้มหมึกเปลี่ยนแปลง กล้องก็จะตรวจพบ และนี่คือสัญญาณชี้บอกให้นักอนุรักษ์เริ่มหยิบแปรง พู่กัน มาเติมแต่งให้คงสภาพเดิม
ถึงแม้กระดาษจะมีประโยชน์สักปานใดก็ตาม แต่กระดาษก็เช่นเดียวกับสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ คือมีโทษเช่นกัน คือ ในการทำกระดาษเราต้องการตัดต้นไม้ เช่น ไผ่ เพื่อเอาเยื่อมาทำกระดาษ หมึกกระดาษก็มีราคาแพง อุตสาหกรรมกระดาษต้องใช้น้ำมากและน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานทำกระดาษเป็นน้ำที่มีมลพิษและปัญหาการจำกัดกระดาษที่ใช้แล้วคือปัญหาขยะ มาบัดนี้ปี 2000 โลกกำลังคิดจะใช้สื่อใหม่แทนกระดาษ ถ้าสื่อใหม่ได้รับความนิยมจากสังคม นั่นก็หมายความว่ายุคการใช้กระดาษก็จะถึงกาลอวสาน
สิ่งนั้นคือกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ และหมึกอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะใช้ควบคู่กับคอมพิวเตอร์ในการแสดงภาพตัวอักษร และภาพถ่ายต่างๆ กระดาษอิเล็กทรอนิกส์นี้จะบาง ทำให้สามารถทำให้นำติดตัวไปไหนมาไหนได้ และก็อ่านง่ายเช่นเดียวกับกระดาษธรรมดาเพราะเพียงแต่เปิดสวิทช์ ผู้อ่านก็จะอ่านข้อมูลในกระดาษได้ทันที คุณสมบัติที่ประเสริฐข้อหนึ่งของกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ก็คือ ภาพ และตัวอักษรที่ปรากฏบนกระดาษจะปรากฏอยู่ได้นาน โดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากที่ใดมาในการอนุรักษ์เลย
ขณะนี้ก็ได้มีการนำกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ตามร้านค้า ร้านซูเปอร์มาเก็ตสนามบิน และที่สาธารณะอื่นๆ แล้ว และอีก 7 ปีนับจากนี้ไป เมื่อเทคโนโลยีการใช้สีหมึกอิเล็กทรอนิกส์ก้าวหน้าขึ้น จอคอมพิวเตอร์หน้าปัทม์นาฬิกา และเครื่องคิดเลขต่างๆ ก็จะใช้กระดาษอิเล็กทรอนิกส์แทน และอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศต่างก็คาดคะเนว่า หนังสือจำนวนมากมายที่มีในห้องสมุดจะถูกแทนที่ด้วยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพียง 1 เล่ม ได้อย่างสบายๆ
จากการที่เราสามารถอ่านกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่าย และสามารถนำกระดาษที่ข้อมูลมากนี้ติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก อีกทั้งสามารถนำมาอ่านได้ 100 ล้านครั้ง กระดาษอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่สลาย คือ เป็นคราบเหลืองเช่นกระดาษทั่วไป เพราะสีอิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาใช้ทำด้วยอนุภาคกลมเล็กที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.01 มิลลิเมตรจำนวนมากมาย โดยอนุภาคถูกบรรจุอยู่ในแคปซูล (capsule) ขนาดใหญ่กว่า 40 เท่าตัว และครึ่งหนึ่งของตัวอนุภาคถูกทาด้วยสารประกอบ titanium dioxin ทำให้มีสีขาว และอีกครึ่งหนึ่งมีสีดำ อนุภาคส่วนที่มี titanium dioxin ถูกทำมีประจุไฟฟ้าลบ
ดังนั้นเวลาเราเอาขั้วไฟฟ้าขนาบบน capsule โดยให้บางตำแหน่งเป็นขั้วบวก บางตำแหน่งเป็นขั้วลบ บริเวณเป็นบวกก็จะดูดประจุลบบนเม็ดอนุภาคบริเวณที่เป็นขั้วลบก็จะผลักประจุลบบนอนุภาค มีผลทำให้อนุภาคหมุนตัว กลับลงล่าง หันส่วนที่เป็นดำขึ้น ข้างบนแทนทันที ทั้งนี้โดยมีคอมพิวเตอร์เป็นตัวกำหนดบริเวณขาวดำ ทุกบริเวณบนกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันราคาของกระดาษชนิดนี้ประมาณตารางเมตรละ 12,000 บาท และเทคโนโลยีใหม่ที่จะใช้ในการทำกระดาษนี้ คือ pointer ขนาดเท่าดินสอ ที่ภายในมี memory ดังนั้นเวลาเราเคลื่อน pointer ไปบนผิวกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ การสัมผัสทางไฟฟ้าระหว่าง pointer กับกระดาษจะทำให้ข้อมูลจาก pointer ถูกถ่ายทอดลงสู่กระดาษได้ทันที
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ว่านี้หน้าเดิมสามารถบรรจุข้อมูลแทนหนังสือธรรมดาได้ 100 เล่ม และในการเปิดอ่านหรือคนก็สามารถอ่านได้เร็วถึง 20 หน้า/วินาที (ถ้าอ่านทัน) ราคาซิที่เป็นปัญหาโลกของคนรวยในอนาคตคงเป็นโลกกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ โลกของคนจนก็คงจะใช้กระดาษธรรมดาเหมือนเดิมอีกนาน