วิกฤตภาวะโลกร้อน : ภัยเสี่ยงต่อคนเอเชียนับล้าน
รายงานฉบับล่าสุดชื่อ “Up in Smoke: Asia and the Pacific” ซึ่งจัดทำโดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมหลายองค์กรทั่วโลกระบุว่า
ภาวะโลกร้อนจะบั่นทอนความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจทั่วเอเชียซึ่งเป็นทวีปที่มีประชากรมากกว่า 4 พันล้านคนหรือร้อยละ 60 ของประชากรโลก ในรายงานที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม 35 องค์กร ซึ่งรวมถึง อ็อกซ์แฟม (Oxfam) และ กรีนพีซ (Greenpeace) ระบุว่า เห็นพ้องกันมากขึ้นถึงความท้าทายอันใหญ่หลวงที่เอเชียเผชิญอยู่ อย่างไรก็ตาม รายงานระบุถึง “เหตุผลแห่งความหวัง” ว่า ขณะนี้ เรามีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รู้ถึงว่าจะทำอย่างไรกับกับปัญหา และผู้คนในเอเชียต้องปรับตัวอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรื่องนี้ก็คือการลงมือทำ
เพียงไม่กี่วันก่อนที่รายงานเรื่อง “Asia - Up in Smoke” จะเผยแพร่
ประเทศที่มีความล่อแหลมมากที่สุดในแถบภูมิภาคนี้ก็โดนพายุไซโคลนถล่ม “บังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรยากจนมากถึงหลายล้านคนอาศัยในพื้นที่การเกษตรและตามชายฝั่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ พายุไซโคลนได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้คนเหล่านี้ที่ต้องพึ่งพาผืนดินและผืนน้ำในการดำรงชีวิต อ็อกซ์แฟมจึงขอให้รัฐบาลช่วยบรรเทาและปรับปรุงสถานการณ์นี้อย่างเข้มงวดทั้งในปัจจุบันและอนาคต” เบิร์ท มาร์เทน แห่ง อ็อกซ์แฟม สากลกล่าว
รายงาน Asia - Up in Smoke ออกเผยแพร่หลังจากที่ IPCC หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สรุปรายงานสังเคราะห์การประเมินฉบับที่ 4
ที่เมืองวาเลนเซีย สเปน ซึ่ง IPCC ชี้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้วและเตือนถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์นี้ว่าสามารถนำไปสู่ผลกระทบฉับพลันและไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้้
“เราไม่ควรเอาอนาคตของโลกเข้าไปเสี่ยง เป็นความเสี่ยงที่สูงเกินไปและกีดกันคนยากจนและกลุ่มคนที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงออกไป” นายธารา บัวคำศรี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “เรารู้ว่าถึงเวลาที่ต้องลงมือทำ การตัดสินใจในการประชุมที่บาหลีจึงต้องสนับสนุนจุดมุ่งหมายของ IPCC”
ในขณะที่ผู้นำจากทั่วโลกกำลังเตรียมการประชุมของสหประชาชาติที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนหน้าที่บาหลี เพื่อหารือถึงวิธีการรับมือกับภาวะโลกร้อน รายงาน Asia - Up in Smoke ได้ระบุไว้ว่า ลักษณะอากาศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียในศตวรรษนี้จะอบอุ่น มีฝนและมรสุมน้อยลงในเขตเกษตรกรรม แต่กลับมีพายุไซโคลนที่รุนแรงมากขึ้น
ประชากรเอเชียมากกว่าครึ่งหนึ่งที่อาศัยใกล้ชายฝั่งจะประสบกับปัญหาน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น
ภูมิภาคเอเชียเป็นที่อยู่อาศัยของเกษตรกรรายย่อยถึงร้อยละ 87 ของเกษตรกรรายย่อย 400 ล้านรายทั่วโลก พวกเขาจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากต้องพึ่งพาฝนตามฤดูกาล อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องซาเซลเซียสในช่วงกลางคืนของฤดูเพาะปลูกจะทำให้ผลผลิตข้าวของภูมิภาคเอเชียลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนข้าวสาลีจะลดลง 32 เปอร์เซ็นต์ภายใน พ.ศ. 2593
การขยายการเพาะปลูกพืชเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้นและทำให้ภาวะโลกร้อนยิ่งรุนแรงขึ้น รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนท้องถิ่นมากขึ้นด้วย
ประชากรบนเกาะขนาดเล็ก เช่น วานัวตู คิริบาติ และตูวาลูในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ในความเสี่ยงที่น้ำทะเลจะท่วมถึง
ในบังกลาเทศที่ประชากร 70 เปอร์เซ็นต์มีอาชีพเกษตรกรรมจะประสบปัญหาอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนที่ผันแปรจนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง
ในประเทศอินเดียพึ่งเกิดน้ำท่วมซึ่งกระทบต่อคน 28 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีปัญหาความแห้งแล้งในบางรัฐของอินเดีย ซึ่งถ้าหากเรายังไม่คิดจะเริ่มลงมือทำ เราจะสูญเสียผลผลิตทางอาหารไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ
ในทางตอนเหนือของจีนปัญหาความแห้งแล้งทำให้สูญเสียผลผลิตด้านการเกษตร หากยังไม่มีการแก้ปัญหาโลกร้อน ในปลายศตวรรษนี้ประเทศจีนจะสูญเสียผลผลิตหลักไป 37 เปอร์เซ็นต์ซึ่งผลผลิตเหล่านั้นรวมถึงข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด
ในรายงานยังมีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและประชากรที่มีฐานะยากจนในประเทศบังกลาเทศ เอเชียกลาง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์ตะวันออก แม่น้ำโขงตอนล่าง มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน และ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีมาตรการจากทางรัฐบาลท้องถิ่นรวมทั้งความร่วมมือจากประชาชนในการลดการปล่อยคาร์บอนและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโดยเน้นที่ผลกระทบที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นกับสุขภาพของคน พลังงาน การอพยพ คนเมือง ผู้หญิง ผลผลิต น้ำและความแห้งแล้ง ทะเล ชายฝั่ง ภัยพิบัติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และ สิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วควรใช้ระบบพลังงานหมุนเวียนและกระจายสู่ภูมิภาคเอเชีย Up In Smoke เสนอให้ทั่วโลกลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อคงอุณหภูมิของโลกไว้ไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสอินเดียเพียงประเทศเดียวมีศักยภาพที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 60 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2593 ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน ประเทศที่เจริญแล้วควรหยุดใช้กฎข้อบังคับด้านทรัพย์สินทางปัญญาและให้ประเทศที่กำลังพัฒนาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั่วโลกต้องประเมินค่าที่ประเทศยากจนต้องสูญเสียไปกับการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและให้เงินทุนช่วยเหลือ
รายงานยังระบุว่าประเทศที่พัฒนาแล้วให้เงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วงปลายปี 2533 นอกจากนี้ยังต้องมีการวางแผนที่จะรับมือกับปัญหาอย่างรอบคอบ จัดการและสนับสนุนผู้ประสบกับหายนะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อาเซียนและสมาชิกประเทศอื่นๆอย่างจีนและเกาหลีใต้มีการประชุมที่สิงคโปร์ในวันที่ 19 ถึง 21 พฤศจิกายนนี้
ซึ่งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นวาระสำคัญของการประชุม “การประชุมครั้งสำคัญที่จะกำหนดอนาคตโลกเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนเรานี่เอง หากอาเซียนต้องการจะดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของภูมิภาค อาเซียนต้องสนับสนุน “พันธะกรณีแห่งบาหลี (Bali Mandate) ในการขยายให้พิธีสารเกียวโตออกไปในช่วงที่สอง (second commitment period) และลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง” ธารากล่าว นอกจากนี้ กรีนพีซยังเรียกร้องอาเซียนตั้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพทางพลังงานให้ชัดเจนสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้้