ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของคนไข้จีบีเอส 42 ราย ซึ่งล้วนมีประวัติติดเชื้อไวรัสซิกาที่แพร่ระบาดในดินแดนเฟรนช์โปลินีเซีย ในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อ 2 ปีก่อน โดยนักวิจัยระบุในวารสาร The Lancet ว่า คนไข้จะเริ่มมีอาการของโรคจีบีเอสหลังจากติดเชื้อไวรัสซิการาว 6 วัน และคาดว่า จะมีผู้ป่วยเป็นโรคจีบีเอส 1 รายในผู้ติดเชื้อซิกาทุก 4,000 คน
ศ.อาร์โนด์ ฟองตาเนต์ จากสถาบันปาสเตอร์ ในกรุงปารีส หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า คนไข้เหล่านี้จะมีอาการทรุดลงรวดเร็วกว่าผู้ป่วยจีบีเอสทั่ว ๆไป แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤติได้แล้วก็จะฟื้นตัวได้ดีกว่าเช่นกัน โดยคนไข้ที่ทำการศึกษาทั้ง 42 คน ไม่มีผู้ใดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่จะต้องได้รับความช่วยเหลือในเรื่องการเดินต่ออีกหลายเดือนหลังจากเริ่มล้มป่วย
นอกจากนี้ นักวิจัยยังแนะนำให้ประเทศที่มีการระบาดของไวรัสซิกา ให้เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยจีบีเอสที่อาจเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นในบราซิล โคลอมเบีย เอลซัลวาดอร์ ซูรินาม และเวเนซุเอลา
ทั้งนี้ จีบีเอส เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายโจมตีเส้นประสาทส่วนปลาย จนเส้นประสาทอักเสบเฉียบพลันทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในผู้ป่วยอาการหนักอาจทำให้หายใจเองไม่ได้ และต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
WHO ประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสซิกา เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยไวรัสชนิดนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกในประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เพราะสันนิษฐานว่ามันทำให้เกิดภาวะไมโครเซฟาลี ซึ่งทารกจะมีศีรษะเล็กและมีพัฒนาการทางสมองผิดปกติแต่กำเนิด