ทำไมคนจึงเสียชีวิตจากถังดับเพลิงระบบไพโรเจนระเบิด?
เมื่อถังดับเพลิงระบบ Pyrogen (ไพโรเจน) ทำงานจะผลิตก๊าซที่มาแทนที่อ๊อกซิเจน ทำให้บริเวณไฟไหม้ไม่มีอ๊อกซิเจน และไฟก็ดับลงโดยก๊าซที่มาแทนที่อ๊อกซิเจน หรือมาช่วยดับไฟนั้นคือ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ผสม ไนโตรเจน และละอองน้ำ (สามตัวนี้ไม่ติดไฟ แต่ช่วยดับไฟ) แต่คนที่หลงติดอยู่บริเวณนั้น ก็จะขาดอากาศหายใจ
ไพโรเจน (PYROGEN) คืออะไร?
สารดับเพลิง PYROGEN (ย่อมาจาก Pyrotechnically Generated) เป็นสารดับเพลิงที่ไม่นำไฟฟ้า ได้รับการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาจากแนวความคิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในจรวด โดยเมื่อเก็บรักษาจะอยู่ในรูปของแข็ง ต่อเมื่อใช้งานหรือทำปฏิกิริยา ก็จะกลายสภาพเป็นส่วนผสมของก๊าซ มีลักษณะการกระจายทั่วทิศทางจนเต็มพื้นที่ป้องกัน
PYROGEN มีลักษณะเป็นถังสามารถทำงานคือฉีดสารดับเพลิงออกมาได้ด้วยตัวของมันเอง จัดว่าเป็นสารดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพสารหนึ่งที่นำมาใช้ทดแทน HALON ที่ถูกห้ามใช้งานไป
จุดเด่นของระบบไพโรเจน
ระบบไพโรเจนเป็นระบบดับเพลิงอัตโนมัติสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า, คอมพิวเตอร์, สื่อสาร ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ด้วยจุดเด่นคือ
-ติดตั้งง่ายไม่ต้องเดินท่อก๊าซ เพียงเดินสายไฟฟ้าจากตู้ควบคุมไปที่ถังแต่ละถัง
-ถังที่ไม่มีแรงดันจึงไม่ต้องกังวลเรื่องก๊าซรั่วออกจากถังเช่นระบบอื่น
-ไม่นำไฟฟ้าและไม่ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย
-ประหยัดพื้นที่เก็บถังโดยเราสามารถนำถัง Pyrogen ที่มีขนาดเล็กไปติดตั้งบนเพดาน, ผนัง,ใต้พื้นยกหรือในตู้ไฟฟ้าได้เลย
-เคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลงในอนาคตทำได้ง่ายเนื่องจากไม่ต้องเดินท่อก๊าซ
-ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมกล่าวคือไม่ทำลายโอโซนและไม่ทำให้โลกร้อน (ค่า ODP=0 และ GWP=0)