วิจัยสหรัฐเล็งใช้หมู เพาะอวัยวะมนุษย์
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐเดินหน้าทดลองเพาะเลี้ยงเซลล์อวัยวะมนุษย์ในหมู หวังแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะสำรองเพื่อปลูกถ่าย
นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐมุ่งทดลองเพาะเลี้ยงเซลล์อวัยวะมนุษย์ในหมู เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะสำรองสำหรับปลูกถ่ายใหม่ในผู้ป่วยที่อวัยวะเสียหาย คาดการณ์ผลลัพธ์ดียิ่งกว่ารับบริจาคอวัยวะจากมนุษย์ด้วยกันเอง
กลุ่มนักทดลองมาจาก 2 สถาบันดัง ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ซึ่งใช้หลักเดียวกันคือฉีดเสต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดของมนุษย์เข้าไปในตัวอ่อนของหมู ให้ได้เป็นตัวอ่อนที่มีเซลล์ของหมูและคน แต่สองกลุ่มจะใช้วิธีที่ต่างกัน
ทีมแรกใช้วิธีการปรับแต่งยีนหรือสิ่งควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม ชื่อ CRISPR โดยนำดีเอ็นเอของหมูออกจากตัวอ่อนหมูจากการปฏิสนธิใหม่ๆ ให้พันธุกรรมนั้นเกิดช่องว่าง จากนั้นจะฉีดสเต็มเซลล์ของมนุษย์เข้าไปในตัวอ่อนนั้น โดยจะเป็นเซลล์ที่สามารถเจริญเติบโตในเนื้อเยื่อใดๆ ของร่างกายก็ได้ ซึ่งข้างต้นกลุ่มของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียคาดหวังว่า ขณะที่ตัวอ่อนเจริญเติบโตในท้องของหมูตัวเมีย ก็จะเพาะตับอ่อนของมนุษย์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งหมูจะตั้งท้องตัวอ่อนพิเศษนี้แค่ 28 วันเท่านั้น จากนั้นกลุ่มผู้ทดลองจะยุติการตั้งท้อง และนำเนื้อเยื่อออกมาวิเคราะห์ว่าสามารถแปรสภาพเป็นอวัยวะที่ใช้ในการปลูกถ่ายกับมนุษย์ได้จริงหรือไม่
ส่วนทีมจากมหาวิทยาลัยแห่งมินนิโซตาก็มองว่า หมูเป็นตัวเพาะทางชีวภาพของอวัยวะมนุษย์ที่เหมาะสมที่สุด และไม่เพียงแค่เพาะเลี้ยงตับอ่อนเท่านั้น ยังสามารถสร้างหัวใจ ตับ ไต ปอด และกระจกตาได้ด้วย ทีมนี้จะต่างจากทีมแรกที่การใช้วิธีการปรับแต่งยีนที่ชื่อว่า TALENs โดยนำเซลล์ต้นกำเนิดของผู้ที่ต้องการรับอวัยวะใหม่มาฉีดในตัวอ่อนของหมูที่ผ่านการผ่าตัดนำยีนหลักออกแล้ว ใช้เวลาสูงสุด 62 วันในการเพาะอวัยวะใหม่ โดยอวัยวะที่ได้จะมีรหัสพันธุกรรมที่เหมือนกับอวัยวะที่ต้องการ แต่ตัวก๊อบปี้จะใหม่กว่าและแข็งแรงกว่า โดยที่ผู้รับอวัยวะก็จะไม่ต้องรับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีผลข้างเคียงหากรับเข้าร่างกายในเวลานานๆ ด้วย
ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มแรกได้พยายามสร้างอวัยวะอะไหล่ของมนุษย์ด้วยวิธีการเดียวกัน แต่ล้มเหลวเพราะไม่ได้สร้างพื้นที่ว่างทางพันธุกรรมก่อนจะฉีดสเต็มเซลล์ของมนุษย์เข้าไปในตัวอ่อนของหมู จึงทำให้ไม่สามารถจัดการกับเซลล์ของหมูที่เติบโตในระดับปกติ ขณะที่การปรับแต่งยีนของหมูเพื่อเพาะเลี้ยงเซลล์มนุษย์นั้นได้ริเริ่มทำมาก่อนหน้านี้หลายสิบปีแล้ว แต่ต้องยุติลงเนื่องจากกังวลเรื่องของไวรัสสัตว์ที่อาจแพร่ระบาดในคน
ทว่า ด้วยความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ความเป็นไปได้ในการโอนย้ายอวัยวะในหมูมาสู่มนุษย์เพิ่มขึ้น และการปรับแต่งยีนมีความรัดกุมเรื่องความสะอาด และสะดวกสำหรับผู้ที่
ต้องการอวัยวะอย่างเร่งด่วน ซึ่งภาพรวมของข้อดีทั้งหมดทำให้อวัยวะที่ปลูกถ่ายในสัตว์ชนิดนี้ดียิ่งกว่าชิ้นส่วนที่มาจากมนุษย์ด้วยกันเอง
อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างรุนแรงโดยกลุ่มพิทักษ์สัตว์ อาทิ Compassion in World Farming ที่เห็นว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์ครั้งนี้เป็นช่องทางทรมานสัตว์ครั้งใหม่ มนุษย์ควรใช้วิธีการรับบริจาคจากมนุษย์ด้วยกันก่อนที่จะใช้วิธีการนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :.posttoday
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!