21 มิถุนายน 2559 กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 21 มิถุนายน นี้  กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีทางซีกโลกเหนือ หรือ “ครีษมายัน” ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีเกือบ 14 ชั่วโมง

        ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงเดือนมิถุนายนดวงอาทิตย์ตกค่อนข้างช้า ในแต่ละวันกว่าดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้าก็เป็นเวลาใกล้หนึ่งทุ่ม เนื่องจากเป็นเดือนที่ประเทศทางซีกโลกเหนือได้รับปริมาณแสงจากดวงอาทิตย์นานที่สุดในรอบปี  และในวันที่ 21 มิถุนายน นี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันครีษมายัน” (ครีด-ษะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice

  สำหรับประเทศไทยในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 05:51 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 18:47 น. ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลารวมกว่า 13 ชั่วโมง 56 นาที (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)
คำว่า “Solstice” เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน Stice หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น Summer Solstice หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เพราะดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมและหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายน หลังจากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนที่ลงมาทางใต้ ในทางฤดูกาลนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวในซีกโลกใต้


21 มิถุนายน 2559 กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี


21 มิถุนายน 2559 กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี


21 มิถุนายน 2559 กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

ตามปกติแล้วแกนโลกไม่ได้ตั้งตรงแต่เอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลก รอบดวงอาทิตย์ ในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ได้แก่  
        1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ในปี 2559 ตรงกับวันที่ 20 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
        2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2559 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว 
        3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2559 ตรงกับวันที่ 22 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
        4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2559 ตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน  
        


21 มิถุนายน 2559 กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ทำให้ในรอบหนึ่งปี โลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) ช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร)  การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ที่มีระยะใกล้บ้าง ไกลบ้าง นั้น เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของใกล้-ไกล ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากจึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนของโลกเอียง 23.5 องศา เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ตำแหน่งขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ส่วนต่างๆ ของโลกจึงได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน  ทำให้มีอุณภูมิต่างกัน จึงเกิดเป็นฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้น 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์