นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่โคจรรอบดาวฤกษ์แม่สองดวง
Kepler - 1647b อยู่ห่างจากโลกของเรา 3,700 ปีแสงและมีอายุประมาณ 4.4 พันล้านปี ซึ่งเป็นอายุใกล้เคียงกับโลก โดยมันเคลื่อนที่รอบดาวฤกษ์สองดวง ซึ่งประกอบด้วยดาวฤกษ์ขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์และเล็กกว่าดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อย ดาวเคราะห์ดวงนี้มีมวลและรัศมีเกือบเท่าดาวพฤหัสบดี มันจึงเป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์สองดวง (circumbinary planet) ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ
Kepler - 1647b ใช้ระยะเวลาในการโคจรรอบดาวฤกษ์เกินกว่า 3 ปี (1,107 วัน) ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานที่สุดสำหรับการเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ (transit) ของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมันอยู่ห่างจากดาวฤกษ์มาก อย่างไรก็ตามในอนาคตรัศมีวงโคจรของมันมีแนวโน้มจะเล็กลง ซึ่งจะทำให้มันเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (habitable zone) ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำอยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวดาวเคราะห์ได้
สำหรับ Kepler - 1647b เป็นก้อนแก๊สขนาดใหญ่เหมือนกับดาวพฤหัสบดี จึงทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ แต่ถ้าหากดาวเคราะห์ดวงนี้มีดวงจันทร์ขนาดใหญ่ ก็อาจเป็นไปได้ว่าดวงจันทร์ดังกล่าวจะเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต
ที่มา : narit.or.th