เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ได้เปิดเผยการค้นพบดาวเคราะห์โคจรในระบบดาวแคระขนาดเล็กเป็นครั้งแรก โดยระบบดาวนี้ห่างจากระบบสุริยะไปเพียงแค่ 40 ปีแสง ดาวเคราะห์ในระบบทั้ง 3 ดวงเป็นดาวเคราะห์ที่ขนาดพอ ๆ กับโลก โคจรอยู่ในเขตอาศัยได้ ลุ้นอาจมีสิ่งมีชีวิต
รายงานระบุว่า ทีมนักดาราฟิสิกส์นานาชาติ รวมถึงนักดาราฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ได้เผยว่า ดาวเคราะห์ขนาดพอ ๆ กับโลกทั้ง 3 ดวงที่ค้นพบนี้ โคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระขนาดเล็ก ชื่อ 2MASS J23062928-0502285 หรือเรียกง่าย ๆ ว่า TRAPPIST-1 อยู่ห่างจากระบบสุริยะเพียง 40 ปีแสง ซึ่งนับว่าเป็นระบบดาวเพื่อนบ้านใกล้เคียงระบบสุริยะ และสิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบนั้นน่าตื่นเต้นจริง ๆ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการค้นพบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ขนาดเล็กแบบนี้มาก่อน แถมดาวเคราะห์ทั้ง 3 ดวงที่พบ ล้วนอยู่ในเขตอาศัยได้ ไม่ร้อนและไม่เย็นเกินไป ไม่แน่ว่าอาจจะพบสิ่งมีชีวิตที่นั่น
จากการสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ นักดาราศาสตร์พบว่าดาวเคราะห์ทั้ง 3 ดวงมีขนาดใกล้เคียงกับโลก สองดวงแรกอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์มากจนน่าจะมีลักษณะการโคจรแบบ Tidal Lock นั่นคือดาวเคราะห์หันด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ คล้ายกับที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และเพราะดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ที่มีขนาดเล็ก จึงใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ในคาบเวลาเพียง 1.5 วัน และ 2.4 วันเท่านั้น ส่วนดาวเคราะห์ดวงที่ 3 สังเกตการณ์ค่อนข้างยาก คาดว่ามีคาบโคจรรอบดาวฤกษ์ได้ตั้งแต่ 4.5-73 วันเลยทีเดียว