ก่อนยานจูโนจะไปถึงดาวพฤหัสฯในวันที่ 4 ก.ค. 2016 มาดูกันดีกว่าว่าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ยานอวกาศจูโนมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจอะไรบ้าง
ต้นเดือนมิถุนายน 2559 ยานจูโนเริ่มรับส่งข้อมูลจากโลกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทีมงานสามารถรับรู้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นกับยานได้ทันท่วงที กลางเดือนมิถุนายน 2559 ส่วนที่คอยป้องกันเครื่องยนต์หลักจากการพุ่งขนของเศษฝุ่นเล็กๆที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถูกเปิดออก คำสั่งต่างๆที่เกี่ยวจ้องกับการจุดระเบิดจรวดถูกส่งไปสู่ยานอวกาศ
วันที่ 21 มิถุนายน 2559 กล้องถ่ายรูป JunoCam ถ่ายรูปดาวพฤหัสฯและดวงจันทร์กาลิเลียนที่ระยะห่าง 6.8 ล้านกิโลเมตร กล้องถ่ายรูปตัวนี้นอกจากจะช่วยในการเก็บข้อมูลแล้วยังเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่ใช้สำหรับเผยแพร่ความรู้สู่คนทั่วไปให้มาร่วมลุ้นในภารกิจของยานลำนี้ได้ด้วย
ในวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ก่อนการจุดระเบิด ยานอวกาศจะทำการปรับความดันจนพร้อมและเหมาะสมกับการจุดระเบิด ซึ่งจากนี้ไปอุปกรณ์ใดก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพฤหัสฯจะถูกปิด
ยานอวกาศจูโนจะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพฤหัสฯทางขั้วเหนือของดาวพฤหัสฯซึ่งนี่ถือเป็นความพิเศษอย่างหนึ่ง เพราะยานอวกาศก่อนหน้าล้วนเข้าใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรและละติจูดต่ำๆเท่านั้น แต่ในครั้งนี้จะมีการเก็บข้อมูลและถ่ายรูปความละเอียดสูงที่ขั้วดาวพฤหัสฯในระยะใกล้กว่าที่เคยมีมา
ภาพต่างๆของยานจูโนจะถูกส่งกลับมาวิเคราะห์และผ่านประบวนการปรับแต่งแล้วเผยแพร่ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2559
ระหว่างนี้เรามาร่วมลุ้นการเข้าสู่วงโคจรในวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ไปพร้อมๆกันนะครับ
ที่มา : narit.or.th