“ซูเปอร์มูน” มายาท้องฟ้า คืนลอยกระทง ใหญ่จริง สว่างจัง…

ช่วงนี้ หลายคนคงจะได้ยินเรื่องซูเปอร์มูนวันลอยกระทงมาบ้างแล้ว เพราะมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กันอย่างเอิกเกริกว่า คืนลอยกระทงปีนี้ เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน หรือจันทร์เพ็ญที่มีขนาดใหญ่โตเป็นพิเศษ เป็นจันทร์เพ็ญที่ใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 70 ปี บางคนอาจตั้งตารอที่จะได้ชมปรากฏการณ์อันน่าตื่นตานี้ แต่บางคนกลับบอกว่า งั้น ๆ แหละ ไม่กี่เดือนก่อนก็พูดแบบนี้ ไม่เห็นจะใหญ่เลย

ตกลงมันยังไงกัน นี่เป็นเรื่องจริงหรือโคมลอยกันแน่?

เป็นความจริงทั้งสองฝ่าย ดวงจันทร์ในคืนนั้นจะแลดูใหญ่กว่าขนาดเฉลี่ยประมาณ 14% หากวัดด้วยเครื่องมือวัดก็จะเห็นความแตกต่างได้จริง แต่สำหรับการแยกแยะความแตกต่างด้วยด้วยตาเปล่าไม่ง่ายนัก คนที่ดูดวงจันทร์บ่อย ๆ หรือสายตาดีจริง ๆ ก็คงจะสังเกตได้ว่าใหญ่กว่าปกติจริง และเชื่อว่ามีเป็นส่วนน้อย

ลองทดลองกันดู เหรียญ 50 สตางค์ใหญ่กว่าเหรียญ 25 สตางค์อยู่ 12% ถือว่าใกล้เคียงกับ 14 หากนำสองเหรียญนี้มาวางใกล้ ๆ กันย่อมสังเกตความแตกต่างกันได้ทุกคน ดวงจันทร์บนท้องฟ้ามีขนาดปรากฏประมาณครึ่งองศาซึ่งใกล้เคียงกับขนาดของเหรียญ 25 สตางค์ที่อยู่ห่างออกไป 2 เมตร ทีนี้ลองมองสองเหรียญนี้ทีละเหรียญที่ระยะห่าง 2 เมตรและต่างเวลากัน 1 เดือน แล้วให้แยกแยะว่าเหรียญที่ดูครั้งใดใหญ่กว่า จะเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย การสังเกตขนาดที่เปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ในคืนซูเปอร์มูนก็ยากแทบไม่ต่างกัน

จึงสรุปว่า จันทร์เพ็ญคืนลอยกระทงปีนี้ดูใหญ่กว่าปกติจริง แต่สังเกตความแตกต่างได้ยาก อย่างไรก็ตาม การออกมาชมจันทร์ในคืนวันเพ็ญก็เป็นเรื่องน่ารื่นรมย์ จึงอยากเชิญชวนประชาชนที่ออกไปลอยกระทงแล้วก็ถือโอกาสชมจันทร์ไปด้วย เรื่องจะแยกแยะออกว่าใหญ่จริงหรือไม่ก็คงเป็นเรื่องรอง

นอกจากขนาดแล้ว ความสว่างของซูเปอร์มูนคืนวันลอยกระทงก็เพิ่มขึ้นกว่าจันทร์เพ็ญปกติถึง 30% ซึ่งมากพอจะรับรู้ได้ ปกติแสงจันทร์วันเพ็ญจะสว่างพอที่จะอ่านหนังสือได้ลาง ๆ ในคืนซูเปอร์มูนนี้คุณอาจอ่านหนังสือใต้แสงจันทร์ได้ง่ายขึ้นอย่างสังเกตได้เลยทีเดียว นี่เป็นประเด็นที่น่าจะทดลองดู

อย่างไรก็ตาม หากคืนนั้นเราสังเกตดวงจันทร์ตั้งแต่เริ่มขึ้นจากขอบฟ้าตอนพลบค่ำ อาจรู้สึกว่าดวงจันทร์ใหญ่กว่าปกติถึงเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว แต่ครั้นเวลาผ่านไป เมื่อดวงจันทร์ลอยสูงขึ้นกลับดูเล็กลง นั่นเป็นผลจากภาพลวงตา ภาพดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นความใหญ่ในความรู้สึกของเราเอง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันทั้งกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ไม่เกี่ยวอะไรกับซูเปอร์มูนแต่อย่างใด

ตามการคำนวณของนักดาราศาสตร์ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกที่สุด ณ เวลา 18 นาฬิกา โดยอยู่ห่างจากโลก 356,509 กิโลเมตร แต่ทราบหรือไม่ว่า นั่นไม่ใช่เวลาที่เราจะได้อยู่ใกล้ดวงจันทร์ที่สุด เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่วัดจากใจกลางโลกถึงใจกลางดวงจันทร์ แต่เราอยู่บนผิวโลก การหมุนรอบตัวเองของโลกจะพาให้เราเข้าใกล้ดวงจันทร์ไปได้อีกเมื่อถึงเวลาใกล้เที่ยงคืน โดยเราจะเข้าใกล้ดวงจันทร์ขึ้นไปอีกราว 6,000 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ดวงจันทร์ดูใหญ่ขึ้นกว่าเมื่อตอนพลบค่ำอีกราวครึ่งลิปดา

เป็นเรื่องน่าแปลกที่ชวนคิด ที่ช่วงหัวค่ำขณะที่ดวงจันทร์ยังไม่ใกล้เราที่สุด แต่ดวงจันทร์กลับดูใหญ่มาก แต่เมื่อยิ่งดึก เรายิ่งเข้าใกล้ดวงจันทร์มากขึ้น แต่ดวงจันทร์กลับดูเหมือนหดเล็กลง นี่คือมายาของท้องฟ้าที่เราจะได้พบเห็นในคืนวันลอยกระทงที่จะถึงนี้

Cr:: matichon.co.th


“ซูเปอร์มูน” มายาท้องฟ้า คืนลอยกระทง ใหญ่จริง สว่างจัง…

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์