รายงานดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารรายเดือนของราชสมาคมดาราศาสตร์ (MNRAS) ที่กรุงลอนดอน โดยระบุว่าแบบจำลองคอมพิวเตอร์ดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นถึงกระบวนการก่อตัวของกาแล็กซีทางช้างเผือกตลอดช่วงเวลาหลายพันล้านปีที่ผ่านมาว่า สามารถรับเอามวลสารจากกาแล็กซีใกล้เคียงที่มีขนาดเล็กกว่าได้เช่นกัน หากเกิดซูเปอร์โนวาที่แรงระเบิดรุนแรงพอที่จะทำให้มวลสารต่าง ๆ หลุดพ้นจากแรงดึงดูดของกาแล็กซีเดิม
มวลสารเหล่านี้จะเดินทางข้ามอวกาศมายังกาแล็กซีทางช้างเผือกในรูปของกลุ่มเมฆที่ถูกลมระหว่างกาแล็กซีพัดพามาด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งอาจกินระยะทางถึงหนึ่งล้านปีแสงกว่าจะมาถึงกาแล็กซีปลายทาง
ทั้งนี้ อะตอมของธาตุอย่างไฮโดรเจนและฮีเลียมที่มาจากนอกกาแล็กซีทางช้างเผือก เป็นส่วนประกอบสำคัญราวครึ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ ๆขึ้นภายในกาแล็กซี ส่วนอะตอมของธาตุที่หนักกว่าจะก่อตัวเป็นดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์ต่าง ๆ รวมทั้งโลกและบรรดาสิ่งมีชีวิตในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งนับว่ามากกว่าความเข้าใจของนักวิทยาศาสตร์ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้
นายแดเนียล แองเกิลส์-อัลคาซาร์ นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการแบบจำลองคอมพิวเตอร์ดังกล่าวระบุว่า "ในแง่หนึ่ง เราต่างเป็นผู้อพยพจากอีกมุมของห้วงอวกาศ ที่เดินทางมายังกาแล็กซีแห่งนี้" เขายังบอกว่าการค้นพบครั้งนี้น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ได้รู้ว่าโลกและกาแล็กซีของเราไม่ได้ก่อตัวขึ้นจากมวลสารที่เหลือหลังการระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบงเพียงอย่างเดียว
ในปัจจุบัน กาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่ ยังคงรับเอามวลสารในอวกาศที่เดินทางมาจากต่างกาแล็กซีในปริมาณที่เทียบเท่ากับดวงอาทิตย์หนึ่งดวงในแต่ละปี