พบร่องรอยการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด ในจักรวาลรองจาก บิ๊กแบง
ทีมนักดาราศาสตร์ขององค์การนาซา ตรวจพบร่องรอยการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในประวัติศาสตร์ของจักรวาล ซึ่งมีความรุนแรงรองลงมาจากเหตุการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) ที่เป็นจุดเริ่มต้นการขยายตัวของเอกภพเท่านั้น
ร่องรอยการระเบิดครั้งมโหฬารนี้ พบว่าเป็นช่องโหว่ขนาดยักษ์ในกระจุกดาราจักรโอฟิวคุส (Ophiuchus galaxy cluster) ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 390 ล้านปีแสง โดยสันนิษฐานว่าการระเบิดปลดปล่อยพลังงานมหาศาลจากหลุมดำมวลยิ่งยวดตรงใจกลางกระจุกดาราจักรดังกล่าว ทำให้เกิดช่องโหว่นี้ขึ้น
กล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์จันทราพบร่องรอยการระเบิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016 โดยต่อมาพบว่าเป็นช่องโหว่ในกลุ่มก๊าซร้อน ซึ่งกินพื้นที่ขนาดใหญ่กว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกถึง 15 เท่า
ดร. ซีโมนา เจียชินตุชชี ผู้นำทีมวิจัยระบุว่า หลุมดำมวลยิ่งยวดที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 10 ล้านเท่า อาจปะทุพลังงานส่วนเกินที่ได้จากการดูดกลืนดาวฤกษ์ออกมาในรูปของไอพ่นเป็นครั้งคราว โดยการระเบิดไอพ่นพลังงานสูงจนทำให้บางส่วนของกระจุกดาราจักรเป็นช่องโหว่นั้น เทียบได้กับการปะทุของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์เมื่อปี 1980 ซึ่งแรงระเบิดจากภายในทำให้ปากปล่องภูเขาไฟส่วนยอดต้องพังทลายไป
ดร. แม็กซิม มาร์เกวิตช์ ผู้ร่วมทีมวิจัยของนาซาอีกรายอธิบายเพิ่มเติมว่า ไอพ่นที่ปะทุจากหลุมดำน่าจะเดินทางผ่านห้วงอวกาศในกระจุกดาราจักรไประยะหนึ่ง ก่อนจะปะทะเข้ากับวัตถุบางอย่างจนทำให้เกิดการระเบิดเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ คล้ายกับการเป่าลมลงไปในหลอดดูดน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดฟองอากาศระเบิดออกที่ปลายหลอด
พลังงานมหาศาลที่ทำให้เกิดการระเบิดครั้งนี้ อยู่ในระดับที่สูงกว่าการระเบิดในกระจุกดาราจักร MS 0735.6+7421 ซึ่งเป็นแชมป์เก่าถึง 5 เท่า โดยทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า การที่หลุมดำมวลยิ่งยวดปะทุไอพ่นในระดับพลังงานขนาดนี้ได้ น่าจะเป็นเพราะมีการดูดกลืนกาแล็กซีเข้าไปเมื่อหลายร้อยล้านปีมาแล้ว