เผยภาพกำเนิดดาวเคราะห์ยักษ์คมชัดที่สุดเท่าที่เคยมีมา
คาดว่าจานหมุนดังกล่าวเป็นมวลสารที่หลงเหลืออยู่หลังการก่อกำเนิดของดาวฤกษ์ AB Aurigae ซึ่งยังมีอายุน้อยราว 2-4 ล้านปี โดยกลุ่มก๊าซและฝุ่นเหล่านี้จะเย็นตัวลงและจับตัวกันเป็นดาวเคราะห์บริวารของดาวฤกษ์ที่เกิดก่อน
รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Astronomy & Astrophysics ระบุว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ถ่ายด้วยรังสีอินฟราเรดย่านใกล้ โดยใช้อุปกรณ์สำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ SPHERE ที่ติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ VLT ในประเทศชิลี แล้วนำข้อมูลภาพที่ได้เบื้องต้นมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA อีกครั้งหนึ่ง
"โครงสร้างที่เป็นแขนเกลียวสองข้าง มีลักษณะตรงตามแบบจำลองทางทฤษฎีที่ทำนายไว้ว่า การสั่นพ้องของอนุภาคฝุ่นและก๊าซในจานหมุนจะทำให้เกิดโครงสร้างแขนเกลียวของกังหันแบบนี้ขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้มวลสารมารวมตัวกันเป็นวัตถุอวกาศที่ใหญ่กว่าเดิมเช่นดวงดาวต่าง ๆ รวมทั้งวงแหวนของดาวเสาร์และบรรดากาแล็กซีก็เกิดขึ้นจากกลไกแบบเดียวกัน"