แพทย์เปิดข้อดีวัคซีน Johnson & Johnson ที่ฉีดแค่เข็มเดียว
โดยคุณหมอ ระบุว่า "หากเปรียบเทียบกับช่วงกลางปี 2020 จะพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนการติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันมากกว่าเดิมราว 3 เท่า และมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติเฉลี่ยต่อวันมากกว่าเดิม 2 เท่า โดยมีจำนวนการตายเฉลี่ยต่อวันมากกว่าเดิม 3 เท่า
ทั้งจำนวนการติดเชื้อ จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติ และจำนวนการตายในแต่ละวันล้วนเพิ่มขึ้นมาก โดยพบว่าขึ้นเร็วชัดเจนตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา
ที่น่าสังเกตคือ จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าจำนวนการตายที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นคงไม่ใช่แค่จำนวนการติดเชื้อที่เพิ่มแต่เพียงอย่างเดียว อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ของการระบาด ซึ่งหากพิจารณาตามเงื่อนเวลา ก็เป็นช่วงที่พบการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ ดังที่ทราบกันมาก่อนหน้านี้
จึงเข้าใจได้ถึงความห่วงใยของวงการแพทย์สากลที่ติดตามผลของวัคซีนชนิดต่างๆ ที่นำออกมาใช้ว่าจะยังใช้ได้ผลกับสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น สายพันธุ์สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ ฯลฯ หรือไม่
ด้วยข้อมูลในปัจจุบัน ดูเหมือนวัคซีนจะยังได้ผลกับสายพันธุ์สหราชอาณาจักรที่ตอนนี้กำลังขยายการระบาดไปทั่วโลก แต่กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้น ดูเหมือนจะได้ผลน้อยลงบ้าง แต่ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
ล่าสุดมีการเผยแพร่ผลการวิจัยระยะที่สามของวัคซีนอีกตัวหนึ่งคือ บริษัท Johnson & Johnson ของอเมริกา เป็นวัคซีนประเภท Adenovirus vector คล้ายกับของ Astrazeneca/Oxford
โดยนี่เป็นวัคซีนที่ใช้ Adenovirus-26 เป็นตัวนำพาส่วนของยีนที่กำหนดการสร้างโปรตีนส่วนหนามของไวรัสโควิด-19 เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด หรือแอนติบอดี้ขึ้นมา ในขณะที่ของ Astrazeneca/Oxford ใช้ Chimpanzee Adenovirus
Johnson & Johnson ทำการวิจัยในอาสาสมัครจำนวน 43,783 คน ทั้งในอเมริกา ลาตินอเมริกา และแอฟริกาใต้
ผลวิจัยพบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการระดับปานกลางรุนแรงได้ 66% ประเมินผล ณ 28 วันหลังฉีดวัคซีน (ภาพรวมของทุกประเทศที่วิจัย) โดยจำแนกเป็น 72% ในอเมริกา 66% ในลาตินอเมริกา และ 57% ในแอฟริกาใต้
ทั้งนี้หากวิเคราะห์เฉพาะการป่วยรุนแรง จะสามารถป้องกันได้ 85%
ข้อดีของวัคซีนของ Johnson & Johnson คือ ฉีดเพียงเข็มเดียว และการเก็บรักษาวัคซีนสามารถเก็บในตู้เย็นธรรมดาได้ ต่างจากวัคซีนประเภท mRNA ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิเย็นจัดซึ่งอาจทำให้มีปํญหาในทางปฏิบัติสำหรับประเทศที่ไม่มีระบบ cold chain ที่ดีพอ
คาดว่า Johnson & Johnson จะดำเนินการยื่นขออนุมัติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเดือนกุมภาพันธ์นี้ การพิจารณาใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่างๆ นั้น หลักการตัดสินใจว่าจะฉีดอะไรหรือไม่ ต้องคำนึงถึงเรื่องความจำเป็น ข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยวัคซีนนั้นๆ สรรพคุณในการป้องกันโรค วิธีการฉีด จำนวนครั้ง ระยะเวลาที่ต้องฉีด รวมถึงผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น
ประชาชนควรสอบถามบุคลากรทางการแพทย์ให้ถ้วนถี่ และจำเป็นต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่ตัวเองมี และประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร หรืออาการแพ้ต่างๆ ในอดีตที่เคยเป็น จะได้ช่วยกันระแวดระวัง และตัดสินใจได้ถูกต้อง หลังฉีดวัคซีนควรรอสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที"