กางผลวิจัย วัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพต้านสายพันธุ์เดลตาลดลง
ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษที่ใช้ข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิดแบบป้ายคอและจมูกในประชาชนกว่า 3 ล้านคนทั่วอังกฤษพบว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์มีประสิทธิภาพลดลงเหลือร้อยละ 61 และ 75 ตามลำดับ หลังฉีดวัคซีนเข็มสองภายในเวลา 90 วัน จากเดิมที่มีประสิทธิภาพร้อยละ 68 และ 85 โดยประสิทธิภาพที่ลดลงนั้นมีความเด่นชัดในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปมากกว่าในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่านั้น
อย่างไรก็ดี ซาราห์ วอล์คเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านเวชสถิติและหัวหน้าผู้ตรวจสอบผลการศึกษาในครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิดของแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์ยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาได้เป็นอย่างดี แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาประสิทธิภาพวัคซีนในระดับสูงเอาไว้ได้ดังเดิม ขณะที่โคเอน เพาเวลส์ หนึ่งในคณะผู้เขียนผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระบุว่า การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น วัคซีนป้องกันโรคโควิดที่มีอยู่ในขณะนี้อาจมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยหนักได้ดีที่สุดและป้องกันการติดเชื้อได้ลดลงเล็กน้อย
ผลวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่ฉีดวัคซีนครบสองโดส เนื่องจากพบว่ามีจำนวนเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับผู้ป่วยติดเชื้อที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นประสิทธิภาพที่ลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ในช่วงที่เชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาแพร่ระบาดรุนแรงในอังกฤษ ทั้งนี้ ผลวิจัยดังกล่าว ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญก่อนตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ ยังเป็นการเน้นย้ำความวิตกกังวลของนักวิทยาศาสตร์หลายรายที่ระบุว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสมีอัตราติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และยังแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน