ล้ำไปอีก! วัคซีนใหม่ตัวแรกของโลกด้วยนาโนเซลลูลาร์ ต้านเดลตาได้95%
บมจ. EnGeneIC บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ได้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีนาโนเซลลูลาร์ (Nanocellular) ใช้ชื่อว่า "EDV"
โดยมีผลการทดลองในสัตว์ทดลองออกมาแล้ว พบว่า สามารถกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันได้ มีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่ต้องกังวล (VOC) ทั้งหลายสายพันธุ์ด้วย โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)
วัคซีนดังกล่าวยังได้เริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ในอาสาสมัครผู้ใหญ่ 2 คนที่มีสุขภาพแข็งแรงที่โรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ เมืองเมลเบิร์น การทดสอบนี้จะทดสอบความปลอดภัยและการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต้านโควิด-19 หลังจากใช้วัคซีน
*โมเลกุลที่ผลิตโปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 กระตุ้นการตอบสนองของแอนติบอดี
*โมเลกุลที่กระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน
*โมเลกุลที่เปลี่ยนการตอบสนองของแอนติบอดีต่อต้านไวรัสให้เป็นเหมือน "ตีนตุ๊กแก" เพื่อรับมือเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์
การศึกษาในสัตว์ทดลอง บริษัทฯ พบว่า วัคซีนของพวกเขาสามารถทำให้สายพันธุ์เดลตาเป็นกลาง (มีฤทธิ์ลบล้างเชื้อไวรัส) ได้มากกว่า 95% และยังพบว่า แอนติบอดีที่สร้างขึ้นลบล้างโปรตีนหนามของสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกาใต้) แกมมา (บราซิล) และเดลตา (อินเดีย) ได้
อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของวัคซีนโควิด-19-EDV ของ EnGeneIC คือ สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) และมีอายุการเก็บรักษานานกว่า 3 ปี ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ชนบทและห่างไกลทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย ที่สำคัญไม่มีสารเคมีเจือปนหรือสารเพิ่มความคงตัวในวัคซีน EDV
ดร.เจนนิเฟอร์ แม็กเดียร์มิด และฮิมันชู พราหมณ์ภัตต์ ซีอีโอร่วมของ EnGeneIC กล่าวว่า เดิมพวกเขาพัฒนาวัคซีนเทคโนโลยีนาโนเซลลูลาร์สำหรับการรักษามะเร็งเป็นหลัก
"ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดที่มุ่งเป้าไปที่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และคนเหล่านี้ก็ถูกคัดออกจากการทดลองวัคซีน ผู้ที่เป็นมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โรคเรื้อรังต่าง ๆ หรือแม้แต่ผู้สูงวัยที่มีระดับภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไม่ตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน" บริษัทฯ บอกในแถลงการณ์