รู้จักยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่WHOหนุนใช้รักษาผู้ป่วยโควิด


รู้จักยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่WHOหนุนใช้รักษาผู้ป่วยโควิด

อนามัยโลกหนุนใช้ "แอนติบอดีค็อกเทล" รักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่ชี้ต้องมีกลไกให้ประเทศยากจนเข้าถึง เพราะมีราคาสูง 70,000 บาทต่อโดส

ล่าสุดวันนี้ (24 ก.ย.) คณะกรรมการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนว่า การใช้ "แอนติบอดีค็อกเทล" ของรีเจเนรอน (Regeneron) และของโรช (Roche) ในการรักษาโควิด-19 เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และผู้ป่วยหนักที่ไม่มีแอนติบอดี

การรักษาโควิด-19 ด้วยแอนติบอดีค็อกเทลจาก 2 บริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐฯ แล้ว โดยได้รับการพิจารณาเมื่อครั้งที่ใช้เพื่อรับมือการติดเชื้อโควิด-19 ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปีที่แล้ว

รู้จักยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่WHOหนุนใช้รักษาผู้ป่วยโควิด

สำหรับแอนติบอดีค็อกเทลของรีเจเนรอนนั้น เป็นการผสมโมโนโคลนอลแอนติบอดีระหว่าง คาซิริวิแมบ (Casirivimab) และอิมเดวิแมบ (Imdevimab) มีชื่อว่า "รีเจนคอฟ (REGEN-COV)"

เฉพาะในสหรัฐฯ รีเจนคอฟสร้างรายได้มหาศาลให้กับรีเจเนรอน โดย ณ ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มียอดขายรวม 2.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8.6 หมื่นล้านบาท) และหลังจากนี้ รีเจเนรอนจะจัดหารีเจนคอฟเพิ่มเติม 1.4 ล้านโดสให้กับทางการสหรัฐฯ ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2022 ที่มูลค่า 2,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 70,000 บาท) ต่อโดส

ราคาของรีเจนคอฟที่ค่อนข้างสูงนี้ ทำให้คณะกรรมการของ WHO ระบุว่า "ควรมีกลไกเพื่อปรับปรุงหรือกระตุ้นให้เกิดการเข้าถึงวิธีการรักษานี้"

รู้จักยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่WHOหนุนใช้รักษาผู้ป่วยโควิด

WHO ยังขอความร่วมมือไปยังรีเจเนรอนเพื่อหาวิธีลดต้นทุนการผลิต และหาวิธีที่จะแจกจ่ายวิธีการรักษานี้ไปได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

องค์กรการกุศลทางการแพทย์ของฝรั่งเศสชื่อ Medecins Sans Frontieres (MSF) ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการเข้าถึงยาช่วยชีวิตจากโควิด-19 โดยมีราคาที่สมเหตุสมผลในช่วงการระบาดใหญ่

คำแนะนำสนับสนุนให้มีการใช้แอนติบอดีค็อกเทลในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของ WHO มีที่มาจากผลการวิจัยขนาดใหญ่ใหญ่ในอังกฤษ และการทดลองในที่อื่น ๆ อีก 3 ชิ้น ซึ่งพบว่า โมโนโคลนอลแอนติบอดีและแอนติบอดีค็อกเทลสามารถลดความเสี่ยงในผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงสูง ไม่ให้มีอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ในระดับสูง

ในเดือน มิ.ย. โครงการทดลอง RECOVERY ของสหราชอาณาจักรพบว่า วิธีการรักษาโควิด-19 ด้วยแอนติบอดีค็อกเทลนี้ ลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้

รู้จักยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่WHOหนุนใช้รักษาผู้ป่วยโควิด

โมโนโคลนอลแอนติบอดีคืออะไร

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่าโมโนโคลนอลแอนติบอดีเป็นแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการ

โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ใช้รักษาโควิด-19 มีทั้งแบบผสมและไม่ผสม

โดยยาแอนติบอดีแบบผสมหรือที่เรียกว่า "แอนติบอดีค็อกเทล" เป็นการนำโมโนโคลนอลแอนติบอดีตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมารวมกัน ซึ่งในยาตัวนี้ได้นำแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอล 2 ชนิดมารวมกัน คือ แอนติบอดีที่สกัดจากหนู ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีระบบภูมิคุ้มกันอย่างมนุษย์ ผสมกับแอนติบอดีที่สกัดจากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19

มีรายงานว่า โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ไทยได้รับบริจาคจากเยอรมนี ซึ่งมีชื่อว่ารีเจนคอฟ (REGEN-COV) ก็เป็นแอนติบอดีค็อกเทลที่เป็นการผสมระหว่างคาซิริวิแมบ (Casirivimab) และอิมเดวิแมบ (Imdevimab)

ขณะที่ รจภ. อธิบายเพิ่มเติมว่ายาแอนติบอดีนี้จะทำหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายอย่างเฉพาะเจาะจง และตรงเข้าจับเชื้อไวรัสได้ดีกว่าแอนติบอดีทั่วไป เพราะจัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing monoclonal Antibody) คือทำให้ไวรัสเป็นกลาง อ่อนกำลังลง และยับยั้งการติดเชื้อในร่างกายไม่ให้ลุกลามไปสู่ระดับรุนแรงได้

ผลการวิจัยพบด้วยว่า ยาชนิดนี้ช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้ย่นระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลให้สั้นลง อีกทั้งลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้ แต่ที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องได้รับยาอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีอาการป่วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาในมนุษย์ถึงการรักษาการติดเชื้อจากสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น เบตา แอลฟา แกมมา และเดลตา

การผลิตยาโดยใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการวิจัยและพัฒนายารักษาทั้ง เช่น Trastuzumab ใช้รักษามะเร็งเต้านม Abciximab Panitumumab รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

รู้จักยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่WHOหนุนใช้รักษาผู้ป่วยโควิด

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

เพจเฟซบุ๊กของ รจภ. อธิบายการให้ยาแอนติบอดีค็อกเทลไว้ว่า จะใช้วิธีหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำครั้งเดียว (single intravenous infusion) ในยาประกอบด้วยสารภูมิต้านทานที่พร้อมทำงานยับยั้งการติดเชื้อได้ทันที จากผลการศึกษาประสิทธิภาพของยาดังกล่าวพบว่าเหมาะสมต่อการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ซึ่งในประเทศไทยจะใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีเขียวที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดก่อนรับยา

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับยาแอนติบอดีค็อกเทลอาจมีอาการข้างเคียงเช่นเดียวกับที่พบจากการฉีดยาอื่น ๆ ได้ เช่น ปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน (Anaphylaxis) หรือภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) แต่มีโอกาสน้อยมาก

สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นหลังการรับยาแอนติบอดีค็อกเทล ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดภายใน 1 ชม. ได้แก่ ผื่นแพ้ อาการคล้ายไข้หวัด อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ความดันต่ำ



เครดิตแหล่งข้อมูล : www.bbc.com /  www.pptvhd36.com


 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์