
เผย3นักวิจัยผู้สร้างโมเลกุลอัจฉริยะ จนคว้าโนเบลสาขาเคมี

คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปีนี้ ประกาศยกย่องผลงานการคิดค้นปฏิกิริยาเคมีที่เป็นเครื่องมือสร้างโมเลกุลอันชาญฉลาด ซึ่งริเริ่มบุกเบิกโดยนักวิจัย 3 คน
ศาสตราจารย์ คาโรลีน อาร์. เบอร์ทอซซี (Carolyn R. Bertozzi) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ, ศาสตราจารย์ มอร์เทน เมนดัล (Morten Mendal) จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก, และดร.เค.แบร์รี ชาร์ปเลส (K.Barry Sharpless) จากสถาบันวิจัยสคริปส์ของสหรัฐฯ ร่วมกันรับรางวัลโนเบลจากผลงานวิจัยปฏิกิริยาเคมี "คลิก" (Click Chemistry) และปฏิกิริยาเคมีที่ทำงานได้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตโดยไม่เป็นอันตราย (Bioorthogonal Chemistry)
ปฏิกิริยาเคมีที่เป็นเครื่องมือสร้างโมเลกุลอัจฉริยะดังกล่าว ได้ทำคุณประโยชน์มหาศาลให้กับวงการต่าง ๆ ทั้งการผลิตยาและเวชภัณฑ์ การแพทย์ อุตสาหกรรม และวัสดุศาสตร์
ดร. ชาร์ปเลส และศ. เมนดัล เป็นผู้บุกเบิกวางพื้นฐานที่นำไปสู่เทคนิควิธีออกแบบและสร้างโมเลกุลชนิดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโมเลกุลสองชนิดจะ "คลิก" (click) หรือจับตัวเข้าด้วยกันอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโมเลกุลใหม่ที่เป็นผลผลิตขึ้นในปริมาณมาก และมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ
โมเลกุลที่ "คลิก" เข้าหากันจะมีความจำเพาะสูง โดยเลือกจับตัวกับโมเลกุลที่เหมาะสมกันเท่านั้น และจะไม่จับตัวกับโมเลกุลชนิดอื่น สามารถผลิตโมเลกุลที่มีโครงสร้างซับซ้อนและเป็นระเบียบในแบบที่นักเคมีต้องการได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างเช่นการเติมตัวเร่งปฏิกิริยาทองแดง (Cu) ลงไป เพื่อให้โมเลกุลของอะไซด์ (Azide หรือ N-3) จับตัวกับแอลไคน์ (Alkyne) ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดหนึ่งได้ดีขึ้นหลายเท่า
สำหรับศ. เบอร์ทอซซีนั้น เป็นผู้พัฒนาหลักการของปฏิกิริยาเคมี "คลิก" ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการประยุกต์นำไปสร้างโมเลกุลที่ทำงานได้ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต โดยไม่ต้องมีโมเลกุลของโลหะเข้ามาข้องเกี่ยว ทำให้ไม่เป็นพิษหรือก่อให้เกิดอันตรายขึ้น ซึ่งปฏิกิริยาเคมีแบบนี้เรียกว่า Bioorthogonal Chemistry
ความก้าวหน้าดังกล่าวถือเป็นการปฏิวัติวงการแพทย์และชีววิทยาของศตวรรษที่ 21 โดยทำให้สามารถใช้เทคนิควิศวกรรมเคมีควบคุมสารต่าง ๆ ในระบบการเผาผลาญของร่างกาย เพื่อนำยาและสารต่าง ๆ ที่ใช้รักษาโรคเข้าสู่เซลล์เป้าหมาย ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการถอดลำดับพันธุกรรมที่ยุ่งยาก และช่วยติดตามศึกษากระบวนการเกิดโรคในระดับเซลล์ได้อีกด้วย
นักวิจัยทั้งสามจะแบ่งเงินรางวัลจำนวน 10 ล้านโครนสวีเดนด้วยกัน ส่วนพิธีมอบรางวัลโนเบลอย่างเป็นทางการ จะมีขึ้นที่กรุงสตอล์กโฮล์มในเดือนธันวาคมนี้

ผลงานของ ศ.เบอร์ทอซซี ทำให้สามารถติดตามทำแผนที่ของโมเลกุลน้ำตาล (เรืองแสงสีเขียว) ภายในเซลล์ได้

ศ. คาโรลีน อาร์. เบอร์ทอซซี ศ. มอร์เทน เมนดัล และดร.เค.แบร์รี ชาร์ปเลส
Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday