อย่าหาเล่น! ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ สนุกเเต่อันตรายถึงชีวิต
"ผลกระทบและอันตรายที่จะได้รับจากลูกโป่งวิทยาศาสตร์นั้น พอๆ กับการเสพสารระเหย เพราะของเล่นชนิดนี้ลักษณะการเล่นคือต้องเป่า ถ้าเป็นเด็กอาจมีการสูดดม หรือหายใจเข้าออกนำสารระเหยเข้าสู่ปอดได้หลายครั้ง ถือเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพสำหรับเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์"
เลขาธิการ สคบ.กล่าวต่อไปว่า ในทางการแพทย์แบ่งลักษณะการเกิดพิษจากสารระเหยออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ชนิดที่เกิดพิษระยะเฉียบพลัน จะทำให้ผู้ได้รับสารระเหยชนิดนี้มีอาการร่าเริง ตื่นเต้น ต่อมาจะมีอาการคล้ายคนเมาสุรา พูดจาอ้อแอ้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ มีอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุภายในปากและจมูก มีน้ำลายไหลมาก มีผลกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนไม่หลับ ต่อมาจะมีฤทธิ์กดทำให้ง่วงซึม หมดสติ ถ้าเสพขนาดสูง สารระเหยจะไปกดศูนย์หายใจ อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ยังพบอาการจาม ไอ คลื่นไส้ ท้องเสีย สั่นและชักแบบลมบ้าหมูและ ชนิดที่มีพิษระยะเรื้อรัง เกิดจากการสูดดมเป็นระยะเวลานาน จะทำให้อวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพ
"ด้วยเหตุนี้ สคบ.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค สั่งห้ามขายลูกโป่งวิทยาศาสตร์ หรือลูกโป่งพลาสติกออกไปแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนนำออกมาขายเป็นระยะ โดดเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าโรงเรียน ทั้งนี้ ผู้ขายสินค้าที่มีคำสั่งห้ามขายมีโทษหนัก ผู้ขายมีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าเป็นผู้ผลิต หรือเป็นผู้สั่ง หรือนําเข้าเพื่อขาย มีโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"