สดร.เผยสาเหตุไม่เห็นฝนดาวตก คืนที่ผ่านมา


สดร.เผยสาเหตุไม่เห็นฝนดาวตก คืนที่ผ่านมา

สดร.เผยสาเหตุไม่เห็นฝนดาวตกในคืนวันที่ 21 ตุลาคมเนื่องจากมีอัตราการตกน้อยและมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ แนะให้ประชาชนรอชมฝนดาวตกอีกครั้งในวันที่ 14-15 ธันวาคมที่จะถึงนี้ เพราะจะมีอัตราการตก 120-150 ดวงต่อชั่วโมง และไม่มีฝน

จากกรณีที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ออกมาเชิญชวนให้ชมฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ซึ่งเป็นร่องรอยของ ดาวหางฮัลเลย์ ในคืนวันที่ 21 จนถึงรุ่งเช้า 22 ต.ค.นี้ บริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ด้วยอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง หากฟ้าใสไร้ฝน จะสามารถลุ้นชมความสวยงามได้ทั่วประเทศนั้น

ล่าสุดเมื่อคืนดังกล่าว สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้โพสต์ข้อความลงใน X ในช่วงระยะเวลา 23:10 น.ก่อนเวลาที่ระบุว่าจะได้เห็นฝนดาวตกคือในช่วง 23:30 น. ระบุว่า

"ฝนดาวตก" คือคืนที่มีดาวตกมากกว่าปกติ เกิดจากโลกโคจรตัดผ่านสายธารของฝุ่นดาวหาง/ดาวเคราะห์น้อย ส่วน "ดาวหาง" จะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าหลายวัน เนื่องจากจะค่อยๆ เปลี่ยนตำแหน่ง เพราะฉะนั้นเราจะไม่เห็น "ดาวหางฮัลเลย์" ในวันนี้ แต่จะเป็น "ฝนดาวตกโอไรออนิดส์" ที่เกิดจากดาวหางฮัลเลย์


ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ (Orionids) มีอัตราการตกเพียง 20 ดวง/ชั่วโมง ประกอบกับมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ อาจทำให้คืนนี้ไม่สามารถสังเกตได้ แต่หากใครอยากลุ้น ให้มองหา "กลุ่มดาวนายพราน" (Orion) ทางทิศตะวันออก สังเกตได้ง่ายจากดาวเรียงเด่นสามดวงที่คนไทยเรียกว่า ดาวไถ

สำหรับใครที่พลาดชม #ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ คืนนี้ ขอแนะนำรอชม #ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14-รุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 ด้วยอัตราการตกสูงสุดมากถึง 120-150 ดวง/ชั่วโมง และเป็นช่วงฤดูหนาวที่ฟ้าใสไม่ต้องลุ้นฝน อีกทั้งปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวนด้วยครับ"


สำหรับดาวหางฮัลเลย์ที่กลายเป็นที่สนอกสนใจจากผู้คน ด้วยความนิยมต่อบทเพลง 'ดาวหางฮัลเลย์' นั้น จะไม่ใช่สิ่งที่จะได้เห็นในปีนี้แน่นอน แต่จะได้เห็นอีกทีในอีก 38 ปีข้างหน้า หรือในปี 2604



สดร.เผยสาเหตุไม่เห็นฝนดาวตก คืนที่ผ่านมา


เครดิตแหล่งข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์