นาซา จับภาพ นาทีดวงอาทิตย์ ปล่อยเปลวสุริยะยักษ์ถึง 2 ครั้ง
เว็บไซต์ nasa เผยแพร่ภาพดวงอาทิตย์ปล่อยเปลวสุริยะ 2 ครั้ง ในเวลา 21.23 น. วันที่ 10 พฤษภาคม และเวลา 7.44 น. ในวันที่ 11 พฤษภาคม โดยหอดูดาว Solar Dynamics ของ NASA เฝ้าดูดวงอาทิตย์อยู่ตลอดเวลา ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทแฟลร์ระดับ X5.8 และ X1.5 ตามลำดับ
นาซาระบุว่า เปลวสุริยะเป็นการระเบิดพลังงานอันทรงพลัง เปลวไฟและการปะทุของดวงอาทิตย์อาจส่งผลกระทบต่อการสื่อสารทางวิทยุ คลื่นไฟฟ้า สัญญาณนำทาง และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อยานอวกาศและนักบินด้วย
จากเว็บไซต์ ngthai ให้ข้อมูลไว้ว่า เปลวสุริยะ หรือ solar flare เป็นสาเหตุของการเกิดพายุสุริยะ ซึ่งเปลวสุริยะเกิดจากการระเบิดอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ และมักเกิดขึ้นเหนือรอยต่อระหว่างขั้วของสนามแม่เหล็ก เช่นบริเวณกึ่งกลางของจุดดำแบบคู่ หรือท่ามกลางกระจุกของจุดดำที่มีสนามแม่เหล็กปั่นป่วน การระเบิดจะปลดปล่อยพลังงานในรูปของแสงและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดต่างๆ ออกมาอย่างรุนแรง
ผลกระทบของพายุสุริยะ ?
โดยทั่วไป พายุสุริยะไม่ส่งผลโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก เนื่องจากชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของโลกทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะป้องกันอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม นักบินอวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศ หรือในยานอวกาศที่โคจรอยู่นอกโลก อาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะได้รับอันตรายจากพายุสุริยะ
ตลอดระยะเวลาที่นักวิทยาศาสตร์บนโลกได้พยายามศึกษากิจกรรมที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ พายุสุริยะเป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์อย่างหนึ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจาก อนุภาคพลังงานสูงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนดวงอาทิตย์ส่งผลต่อเทคโนโลยีดาวเทียมที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
โดยพลังงานของอนุภาคจากดวงอาทิตย์อาจมีผลไปรบกวนการสื่อสาร และการรับส่งข้อมูลระหว่างดาวเทียมกับสถานีควบคุมบนพื้นโลก และถ้าเกิดขึ้นกับดาวเทียมสื่อสาร ก็อาจทำให้ระบบเครือข่ายโทรคมนาคมมีปัญหาได้
3 ปัจจัย ส่งผลต่อความรุนแรงของพายุสุริยะ
1. จุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ซึ่งเป็นบริเวณผิวดวงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณส่วนอื่น และเป็นบริเวณที่สนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์สามารถทะลุออกจากดวงอาทิตย์ออกมาสู่อวกาศภายนอกได้
2. อิทธิพลที่ทำให้สภาวะอวกาศระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ปรวนแปร โดยในกรณีที่เกิดพายุสุริยะ ชั้นบรรยากาศของโลกอาจได้รับรังสีเอ็กซ์มากกว่าปกติ 1,000 เท่า โดยอิทธิพลของรังสีเอ็กซ์จะทำให้อิเล็กตรอนที่อยู่ในสารประกอบและธาตุหลุดออกมา และเนื่องจากอิเล็กตรอนเหล่านี้มีประจุทางไฟฟ้า ถ้าไปชนกับวัตถุที่เกี่ยวข้องกับวงจรไฟฟ้า ก็อาจทำให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์เสียหายได้
3. เมื่อกลุ่มก๊าซร้อนหลุดลอยมาถึงโลก ซึ่งนำพาสนามแม่เหล็กมาด้วย มีผลโดยตรงต่อการบิดเบี้ยวของสนามแม่เหล็กโลก และเมื่อสนามแม่เหล็กของโลกผิดปกติ จะเกิดกระแสไฟฟ้าไหลไปทั่วชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้ชั้นบรรยากาศขยายตัว และส่งผลต่อเนื่องทำให้ยานอวกาศและดาวเทียมมีความเร็วลดลง ตกเข้าสู่วงโคจรระดับต่ำ และตกลงสู่โลกเร็วกว่ากำหนด
อย่างไรก็ตาม นาซาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากต้องการดูว่าสภาพอากาศในอวกาศอาจส่งผลต่อโลกอย่างไร โปรดไปที่ศูนย์พยากรณ์อากาศอวกาศของ NOAA ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับการพยากรณ์อากาศในอวกาศ นาฬิกาข้อมือ คำเตือน และการแจ้งเตือน NASA ทำงานเป็นหน่วยงานวิจัยด้านสภาพอากาศในอวกาศของประเทศ NASA สังเกตดวงอาทิตย์และสภาพแวดล้อมในอวกาศของเราอย่างต่อเนื่องด้วยยานอวกาศที่ศึกษาทุกอย่าง ตั้งแต่กิจกรรมของดวงอาทิตย์ไปจนถึงชั้นบรรยากาศสุริยะ ตลอดจนอนุภาคและสนามแม่เหล็กในอวกาศรอบโลก