ประเพณีการอวยพรมีมาแต่ครั้งใด?
"ประเพณีไทยโบราณ"
ประเพณีไทยสมัยโบราณ การที่จะอวยพรหรือกล่าวคำที่เป็นมงคลให้กับผู้ใด เราชอบเอ่ยด้วยวาจาและเป็นการกล่าวต่อหน้าผู้รับ ไม่มีการส่งความสุขหรือคำอวยพรด้วยการใช้บัตร ส.ค.ส. เหมือนดังทุกวันนี้ ส.ค.ส. เข้าใจว่าเริ่มเข้ามาในเมืองไทยในราวสมัยรัชกาลที่ ๗ ในชั้นแรกคงจะใช้กันในวงแคบๆ ส่วนมากเป็นขุนนางหรือเจ้านาย
การอวยพรไม่ใช่จะมีเฉพาะวันขึ้นปีใหม่เท่านั้น แต่ทำได้หลายโอกาส และคำอวยพรก็แปลกแตกต่างกันออกไปตามแต่วาระและโอกาส ธรรมเนียมไทยโบราณเมื่อเด็กทำความเคารพผู้ใหญ่ มักจะได้รับพรว่า ขอให้อายุมั่นขวัญยืน อย่ารู้เจ็บรู้ไข้ ขอให้เป็นเจ้าคนนายคน หรือถ้าเป็นพระให้พรก็ไม่พ้นอายุ วัณโณ สุขขัง พลัง ซึ่งแม้แต่คนธรรมดาก็ชอบให้พรกันอย่างนั้น คือ ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ซึ่งการให้พรทั้ง ๔ ประการนี้หมายถึง ขอให้มีอายุยืน ให้มีวรรณะคือผิวพรรณดี มีความสุข และมีร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไข้ เข้าใจว่าเป็นพรที่เก่าที่สุด เหตุที่จะมีการอวยพรให้มีอายุยืนมีเรื่องกล่าวปรากฏอยู่ในภัตตชาดก ซึ่งจะเห็นว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล
แหล่งข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กระทรวงวัฒนธรรม