เพชรนิลจินดา แหวน นาฬิกา วางเกลื่อนกลาดตามตู้โชว์ โต๊ะแต่งตัว แม้แต่ตู้เซฟก็มีกุญแจเสียบคาไว้ เพราะซาอุฯ เป็นประเทศมุสลิมบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด มีการลงโทษผู้ทำผิดรุนแรง คดีอาชญากรรมโดยเฉพาะลักทรัพย์จึงไม่มีให้เห็น แต่สำหรับเกรียงไกรแล้วความหละหลวมที่ว่านี้เปิดโอกาสให้เขาลงมือลักทรัพย์สินของกษัตริย์ซาอุฯ ได้โดยง่าย
เกรียงไกรฉวยโอกาสขณะกษัตริย์ไฟซาลและมเหสีแปรพระราชฐานไปพักผ่อนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อเดือนธันวาคม 2532 เป็นเวลา 15 วัน พระราชวังจึงปลอดคน มีเพียงแม่บ้านคอยทำหน้าที่เปิดปิดประตูอาคารในพระราชวังเท่านั้น
ระหว่างนี้บริษัทรับจ้างทำความสะอาดที่เกรียงไกรทำงานอยู่ ถูกเรียกเข้าไปทำความสะอาดพอดี เขาเข้าไปทำงานกับเพื่อนแรงงานชาวไทย 4-5 คน ชาวฟิลิปปินส์และศรีลังกาอีกจำนวนหนึ่ง โดยมีหัวหน้างานชาวฟิลิปปินส์คอยควบคุมการเซ็นชื่อเบิกเงินค่าแรงทุกเช้า-เย็น และมีรถรับ-ส่งเป็นประจำทุกวัน
เกรียงไกรดูลาดเลาอยู่ 2 วันเต็ม เช้าวันที่สาม จึงนำกระสอบปุ๋ยติดตัวไปด้วย โดยออกอุบายขออนุญาตหัวหน้างานเดินทางไป-กลับเอง พร้อมทั้งขอเซ็นชื่อในสมุดบันทึกการทำงานเช้า-เย็นในคราวเดียว ทุกวันหลังเลิกงาน แทนที่จะกลับที่พักเกรียงไกรกลับซุกตัวอยู่ในพระราชวัง เพื่อหาโอกาสหยิบฉวยอัญมณีและทรัพย์สินมีค่า โดยซุกตัวอยู่ในพระราชวังนานถึง 7 คืน เลือกหยิบเพชรและเครื่องประดับใส่กระสอบปุ๋ยจนเต็ม แล้วเหวี่ยงออกนอกกำแพงนำกลับที่พัก
ก่อนหน้านี้เกรียงไกรทำงานอยู่ที่ซาอุฯ นานถึง 7 ปี ทำให้เดินทางไปไหนมาไหนได้ตามลำพัง รู้ทางหนีทีไล่ รวมทั้งจุดอ่อนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และคุ้นเคยกับวิธีส่งสิ่งของกลับประเทศไทย ด้วยบริการขนส่งพัสดุทางอากาศ
เกรียงไกรบรรจุอัญมณีลงกล่องกระดาษปะปนกับเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัว โดยไว้ด้านล่างทั้งหมด 4 กล่อง น้ำหนักรวมประมาณ 90 กิโลกรัม โดยไม่พิถีพิถันในการบรรจุ จ่าหน้าซองด้วยลายมือขยุกขยิก เพื่อไม่ให้เป็นที่สนใจของเจ้าหน้าที่
ก่อนที่กษัตริย์ซาอุฯ จะเสด็จกลับพระราชวัง เกรียงไกรก็หนีกลับประเทศไทยก่อนแล้ว ทั้งที่เหลือเวลาทำงานตามสัญญาอีก 2 เดือน เมื่อถึงดอนเมืองก็ไปติดต่อรับพัสดุทางอากาศที่ส่งมาก่อนล่วงหน้า โดยจ่ายเงินไป 7,000 บาทแลกกับความสะดวกในการนำกล่องออกจากสนามบิน
เกรียงไกรไม่มีความรู้เรื่องอัญมณี รู้เพียงว่าหากเป็นเพชรจริงจะแข็ง จึงตรวจสอบโดยใช้ของแข็งทุบ เม็ดไหนไม่แตกก็นำไปขายให้แหล่งรับซื้อใน จ.ลำปาง ในราคาถูกๆ ได้เงินสดมาประมาณ 5 ล้านบาท แต่ขายยังไม่ทันหมดความก็มาแตกเสียก่อน เมื่อกษัตริย์ไฟซาลทรงทราบว่าทรัพย์สินภายในพระราชวังหายไป
ทางการซาอุดีอาระเบียเรียกบริษัทรับทำความสะอาดพระราชวังมาสอบสวน กระทั่งทราบว่าหัวขโมยคือ "เกรียงไกร เตชะโม่ง" แรงงานชาวไทยที่หนีกลับประเทศแล้ว จึงประสานให้ทางการไทยส่งตัวไปรับโทษ และทวงคืนอัญมณีทั้งหมดที่แรงงานไทยรายนี้ขโมยมา โดยในช่วงนั้นซาอุฯ ห้ามไม่ให้คนในประเทศเดินทางมาไทย และเข้มงวดแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศของเขา
เกรียงไกรทราบเรื่องการถูกตามล่าจากเพื่อนแรงงานที่ข่มขู่ขอส่วนแบ่ง เขาจึงมอบอัญมณีให้ไปส่วนหนึ่งปิดปาก ก่อนจะหนีเข้าป่าด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าพม่า ด้วยความเสียดายทรัพย์สินเขาจึงนำใส่ถุงพลาสติกแล้วฝังดินไว้ใกล้ๆ บ้าน พร้อมทั้งพกยาไซยาไนต์ติดตัวไว้ฆ่าตัวตายหากจนมุมตำรวจ โดยระยะแรกที่เข้าป่ามีลูกหาบติดตามดูแล แต่นานวันเข้าผู้ติดตามทนความลำบากไม่ไหวก็แยกตัวออกมา
พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น สั่งการให้ พล.ต.ต.ชลอ เกิดเทศ รอง ผบช.ก. เจ้าของฉายา "สิงห์เหนือ" ซึ่งกำกับดูแลกองปราบปราม จัดทีมไล่ล่าเกรียงไกรโดยมี พ.ต.ท.เจษฎากร นะภีตภัทร และ ร.ต.อ.จีรวัฒน์ แท่งทอง (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นกำลังสำคัญ
หนึ่งเดือนต่อมาเกรียงไกรก็ถูกจับภายในโรงแรมเล็กๆ ใน อ.แม่สอด ที่เขาเช่าพักอยู่กับหญิงรายหนึ่ง แต่ทางการไทยไม่ได้ส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่ซาอุฯ เพราะเห็นว่าโทษที่จะได้รับคือประหารชีวิต ซึ่งเป็นโทษที่สูงเกินไป
เกรียงไกรถูกแจ้งข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน ระวางโทษจำคุก 1-7 ปี เขาให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษ และติดคุกจริงไม่ถึง 5 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้เกรียงไกรได้รับอิสรภาพมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่สัมพันธภาพระหว่างไทยกับซาอุฯ ถึงจุดต่ำสุด และยิ่งตอกย้ำเมื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รมว.ต่างประเทศ ไปเยือนซาอุฯ เพื่อฟื้นสัมพันธ์ แต่ต้องผิดหวังเพราะซาอุฯ กล่าวหาว่าไทยเอาเพชรปลอมไปคืนแถมคืนให้ไม่ครบ โดยเฉพาะ "บลูไดมอนด์" เพชรประจำราชวงศ์ก็ยังไม่ได้คืน
ปฏิบัติการติดตาม "บลูไดมอนด์" ในไทยจึงเกิดขึ้น โดยนายโมฮัมหมัด ซาอิค โคจา อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ถึงกับว่าจ้างชุดสืบสวนพิเศษแกะรอยตามหาเพชรอย่างลับๆ ควบคู่ไปกับการทำงานของตำรวจยุคที่มี พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดี
เกรียงไกรให้การในทำนองว่าบลูไดมอนด์น่าจะอยู่ในมือของ "สันติ ศรีธนะขัณฑ์" เจ้าของร้านเพชรสันติมณี ย่านเจริญกรุง จนกลายเป็นที่มาของคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ และเป็นการปิดตำนาน 2 ตำรวจมือปราบ เจ้าของฉายาสิงห์เหนือและเสือใต้ ติดตามอ่านต่อในพลิกแฟ้มตอนหน้า
ชีวิตหลังพ้นโทษของ "เกรียงไกร เตชะโม่ง" ไม่แตกต่างจากอดีตนักโทษคนอื่นๆ เขาไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของสังคม และขาดความมั่นใจในการเผชิญชีวิตนอกห้องขัง
หลังพ้นโทษไม่นานเกรียงไกรเปลี่ยนไปใช้นามสกุลอื่น อาศัยอยู่ที่บ้านหลังเล็กๆ ใน อ.เถิน จ.ลำปาง กับภรรยา ส่วนลูกชายเข้ามาขายแรงงานใน กทม.นานๆ จึงกลับไปเยี่ยมสักครั้ง สองสามีภรรยาใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและปฏิเสธที่จะรื้อฟื้นความทรงจำหนหลัง
"ณรงค์ อินต๊ะพันธ์" นายก อบต.แม่ปะ ซึ่งคุ้นเคยกับเกรียงไกรดีบอกกับ "คม ชัด ลึก" ว่าแม้จะพ้นโทษมานานแล้ว แต่เกรียงไกรยังคงเก็บตัวอยู่เฉพาะภายในบ้านพัก ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่ทุกครั้งที่หมู่บ้านมีงานก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ทุกวันนี้เกรียงไกรมีรถกระบะเก่าๆ อยู่ 1 คัน วิ่งรับจ้างขนทรายไปส่งตามสถานที่ก่อสร้าง นอกจากทำนาในที่ดินของตัวเองที่มีอยู่ประมาณ 10 ไร่ ฐานะพอกินพอใช้ หาเช้ากินค่ำ ไม่แตกต่างจากชาวบ้านแม่ปะหลวงรายอื่นๆ
"เขาไม่สนทนากับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะกับนักข่าวหากพบหน้าจะเดินหนีทันที เคยถามเขาเหมือนกันว่าหนีหน้าคนอื่นทำไม เขาบอกว่าไม่อยากคุยด้วยเพราะนักข่าวชอบถามแต่เรื่องเดิมๆ ที่ตัวเขาอยากลืม"
เครดิต จากคมชัดลึกค่ะ
ภาพประกอบจาก Google