เธอมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง "ท้าวทองกีบม้า" ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส อาทิ ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองม้วน และหม้อแกง จนได้สมญาว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย" แต่ก็มีกระแสคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อมกับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่นางจะเกิดเสียอีก เรื่องที่นางดัดแปลงขนมไทยจากตำรับโปรตุเกสเป็นคนแรกเห็นจะผิดไป
ชีวิตดุจนิยายของ ‘ท้าวทองกีบม้า’ ราชินี แห่ง‘ขนมไทย’
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2135 ตามคำบัญชาของโทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ทำให้เซญอรา อิกเนซ มาร์แตงซ์ หรือ อิกเนซ มาร์ตินซ์ (ญี่ปุ่น: イグネス・マルティンス ?) ยายของท้าวทองกีบม้า ถูกนำตัวมาไว้ที่เมืองไฮโฟในเวียดนาม ระหว่างนั้นนางได้สมรสกับลูกหลานไดเมียวตระกูลโอโตะโมะ ภายหลังครอบครัวของนางจึงได้อพยพมาลงหลักปักฐานในกรุงศรีอยุธยาอีกทอดหนึ่ง แต่ข้อมูลบางแห่งก็ว่า ครอบครัวของนางไปอยู่ที่กัมพูชาก่อนถูกกวาดต้อนมาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อคราสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตีเมืองละแวก ในปี ค.ศ. 1593 ากข้อมูลนี้มารีอาอาจมีเชื้อสายเขมรหรือจามผ่านทางมารดาด้วยก็เป็นได้ ครอบครัวของยะมะดะเป็นตระกูลที่เคร่งครัดในคริสต์ศาสนา เซญอรา อิกเนซ มาร์แตงซ์ ผู้เป็นยาย อ้างว่านางเป็นหลานสาวของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์(Saint Francis Xavier) นักบุญชื่อดัง ที่ได้ประทานศีลล้างบาปและตั้งนามทางศาสนาให้
แต่อย่างไรก็ตามมารดาของท้าวทองกีบม้าค่อนข้างจะมีประวัติด่างพร้อยว่านางคบชู้กับบาทหลวงทอมัส วัลกัวเนรา (Thomas Vulguaneira) บาทหลวงเยสุอิตเชื้อสายซิซิลี และกล่าวกันว่าท้าวทองกีบม้า มิใช่ลูกของฟานิก สามีตามกฎหมายของนางยะมะดะ แต่เกิดกับบาทหลวงรูปดังกล่าว ดังปรากฏใน Mémoire touchant l'enlèvement et la reddition de Madame Constance ความว่า
"ส่วนนางอูร์ซูลนั้นเล่า พอเข้าพิธีแต่งงานกับสามีที่ถูกต้องนามว่าฟานิกได้ไม่ทันไร ก็ไปมีความสัมพันธ์กับบาทหลวงวัลกัวเนรา ซึ่งเป็นบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเยสุอิต ผู้ออกแบบการก่อสร้างป้อมค่ายกำแพงเมืองให้สยาม มาดามฟอลคอน [ท้าวทองกีบม้า] ซึ่งผิวขาวยิ่งกว่านายฟานิกและน้อง ๆ ของเธอ ถือกำเนิดในช่วงเวลานี้เอง ปรากฏว่าบาทหลวงวัลกัวเนราถูกเรียกตัวไปประจำที่มาเก๊าเพราะมีข่าวอื้อฉาวเรื่องนี้เอง ว่ากันว่าท่านบาทหลวงข้ามแม่น้ำไปยังหมู่บ้านญี่ปุ่นอีกฟากฝั่งหนึ่งเพื่อไปหานาง"
ทั้งยังปราฏใน Mémoire en forme de lettre d'un anglais catholique เช่นกัน มีเนื้อความว่า
"พ่อฟานิกคนนี้ เป็นคนผิวดำลูกครึ่งเบงกอลกับญี่ปุ่น ที่ข้าพเจ้าระบุว่าเขาผิวดำนี้ มิพักต้องคัดค้านดอกว่าก็บุตรธิดาของเขาบ้างบางคนนั้นผิวขาว และคนอื่น ๆ กลับผิวคล้ำ ก็นี่ล่ะที่จะเป็นเหตุให้ต้องค้นหากันละสิ ข้าพเจ้าจะบอกว่า นักบวชตาชาร์... ท่านทำให้ทุก ๆ คนหัวเราะกันอยู่เรื่อย เวลาที่พูดว่า มร. กงส์ต็องส์เรียกขานบาทหลวงเยสุอิตว่าเป็นพี่เป็นน้อง"
ชีวิตสมรส
มารีอาได้สมรสกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะนั้นที่นางมีอายุได้ 16 ปี เบื้องต้นบิดาของนางแสดงความไม่พอใจในพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักในโลกีย์นัก
ฟอลคอนจึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา ฟานิกจึงเห็นแก่ความรักของคอนสแตนตินและยินยอมได้ทั้งสองสมรสกัน โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมงานมงคลสมรสดังกล่าวด้วย
หลังการสมรส มารีอาก็ยังดำรงชีวิตอย่างปกติไม่โอ้อวดในยศถาบรรดาศักดิ์ ซ้ำยังชี้ชวนให้สามีคือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ประพฤติและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอขึ้นกว่าเก่า ดังปรากฏในงานเขียนของบาทหลวงโกลด เดอ แบซ (Claude de Bèze) ว่า
"...สตรีผู้ถือมั่นในพระคริสตธรรมนี้มีอายุได้ไม่เกิน 16 ปี ได้หลีกหนีความบันเทิงเริงรมย์ทั้งหลาย อันสตรีในวัยเดียวและฐานะเดียวกันกับนางใฝ่หากันหนักหนานั้น แล้วมุ่งแต่จะรับใช้พระผู้เป็นเจ้ากับทำความสบายอกสบายใจแก่ท่านสามีเท่านั้น นางไม่ออกจากทำเนียบไปไหนมาไหนเลย นอกจากจะไปวัด..."
ท้าวทองกีบม้าและเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ มีบุตรด้วยกันสองคนคือ จอร์จ ฟอลคอน (George Phaulkon) กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon) แต่ก่อนหน้านี้ฟอลคอนมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพเพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก หลังสมรสแล้วมารีอาจึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก มารีอาก็แสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี นอกจากนี้เธอและสามียังอุปถัมภ์เด็กเข้ารีตกว่า 120 คน
ด้วยเหตุนี้มารีอาจึงมีสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว นางต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับกับคุมขัง ดังปรากฏในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ความว่า
"...สุภาพสตรีผู้น่าสงสารผู้นั้น ถูกโยนเข้าไปขังไว้ในโรงม้าอันคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ไม่มีข้าวของติดตัวไปเลย มีแต่ฟากสำหรับนอนเท่านั้น"
ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนางได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง[17] ต่อมาได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง แต่โชคร้ายของนางยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อหลวงสรศักดิ์ พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นภริยา มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต ดังปรากฏในพงศาวดารว่า
"...ฝ่ายภรรยาฟอลคอน ได้ถูกรังแกข่มเหงต่าง ๆ บุตรพระเพทราชาก็เกลียดนัก ด้วยบุตรพระเพทราชาได้ไปเกี้ยวภรรยาฟอลคอน แต่ภรรยาฟอลคอนไม่ยอม บุตรพระเพทราชาจึงเกลียดและขู่จะทำร้ายต่าง ๆ"
ตลอดเวลาทุกข์ลำบากนี้ นางพยายามหาทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา นายพลเดฟาร์ฌที่ประจำการที่ป้อมวิไชยเยนทร์ที่บางกอกได้ให้สัญญากับนางว่าจะพาออกไปพ้นกรุงสยาม แต่นายพลเดฟาร์ฌได้บิดพลิ้วต่อนาง
"...ถ้าพวกเขาพามาดามกงส์ต็องส์ออกไปแล้วไซร้ พวกคริสตังทั้งนั้นจะได้รับการข่มเหงจากพวกคนสยาม และจะพากันถูกลงโทษประหารอย่างอเนจอนาถ พวกคนป่าเถื่อนเหล่านั้นจะทำลายโรงคลังสินค้าของฝรั่งเศสเสีย อันจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวงแก่กิจการค้าของบริษัทในชมพูทวีป..."
นอกจากปฏิเสธนางแล้ว ยังได้กักขังหน่วงเหนี่ยวนางในหอรบและควบคุมอย่างเข้มงวด บาทหลวงเดอ แบซ ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
"...เรายังได้ทราบต่อมาอีกถึงความทุกข์ทรมานที่เธอได้รับจากการถูกทอดทิ้งในคราวนั้น แม้กระทั่งน้ำก็ไม่มีให้ดื่ม"
หลังจากนั้นประวัติของนางก็หายไปช่วงหนึ่ง และปรากฏอีกครั้งว่านางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง มีชาวฝรั่งเศสบันทึกถึงนางว่า
"...มาดามกงสต็องส์ได้ออกจากบางกอกด้วยกิริยาองอาจ ดูสีหน้ารู้สึกว่ามิได้กลัวตายเท่าใดนัก แต่มีความดูถูกพวกฝรั่งเศสมากกว่า..." แต่ขณะเดียวกันนั้น นายพลเดฟาร์ฌซึ่งเดินทางออกจากสยามหวังคืนสู่ฝรั่งเศสโดยที่เขาหอบสมบัติของนางไปด้วย ก็ได้ถึงแก่มรณกรรมที่แหลมกู๊ดโฮป ทั้งลูกน้องที่เหลือยังถูกชาวเนเธอร์แลนด์จับกุมเป็นเชลยที่นั่น ทรัพย์สินของฟอลคอนที่นางฝากมาก็พลอยถูกยึดและอันตรธานไปด้วย
หมอเองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวถึงนางกับบุตรอย่างไม่แน่ใจว่า
"...เจ้าเด็กน้อยกับแม่คงเที่ยวขอทานเขากินมาจนทุกวันนี้ หามีใครกล้าเกี่ยวข้องด้วยไม่..."
เคหาสน์อันเป็นที่พำนักของนางและสามีที่เมืองลพบุรี
เมื่อครั้งที่ท้าวทองกีบม้า เข้ารับราชการในห้องเครื่องต้น กำกับเครื่องชาวพนักงานหวานในพระราชวัง ก็ได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมมารวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง[22] ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย ด้วยเหตุนี้ท้าวทองกีบม้าจึงได้การยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งขนมไทย" โดยขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าได้ดัดแปลงเป็นขนมหวานของไทยนั้น มีดังต่อไปนี้
1. ทองม้วน
2. ทองหยิบ
3. ทองหยอด
4. ทองพลุ
5. ทองโปร่ง
6. ฝอยทอง
7. กะหรี่ปั๊บ
8. ขนมหม้อแกง
9. สังขยา
10. ขนมผิง
11. สัมปันนี
12. ขนมขิง
13. ขนมไข่เต่า
14. ลูกชุบ
แต่ในทางตรงกันข้าม ปรีดิ พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้คัดค้านเรื่องท้าวทองกีบม้าดัดแปลงให้เป็นขนมหวานของไทย โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อม ๆ กับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่ท้าวทองกีบม้าจะเกิดเสียอีก ทั้งยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่านางได้ผลิตขนมดังกล่าวจริง ดังนั้นความคิดที่ว่าท้าวทองกีบม้าเป็นผู้ผลิตขนมหวานที่รับอิทธิพลโปรตุเกสได้เป็นคนแรกจึงเป็นเรื่องที่ผิด
สัญลักษณ์ของขนมหวานไทย
จากการที่ท้าวทองกีบม้า เป็นชาวไทยที่เกิดจากชุมชนลูกครึ่งในกรุงศรีอยุธยาที่มีเชื้อสายทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกส ทั้งยังมีชื่อเสียงด้านขนมหวานของไทยจนเป็นสัญลักษณ์ของขนมหวานไทย เรื่องราวของนางได้ถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งของการจัดนิทรรศการระหว่างประเทศ อาทิ
ในปี พ.ศ. 2550 มีการจัดเทศกาลไทย ครั้งที่ 8 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดซุ้มสาธิตหัตถกรรมการทำขนมไทย ได้นำเรื่องราวของท้าวทองกีบม้าซึ่งมีเชื้อสายญี่ปุ่นที่มาเผยแพร่วัฒนธรรมด้านการประดิษฐ์ขนมหวานของไทย[29] และในปี พ.ศ. 2555 มิวเซียมสยามได้จัดนิทรรศการพิเศษชุด "Olá Sião 500 ปี ไทย-โปรตุเกส" อันเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการเข้ามาของชาวโปรตุเกสตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้มีการจัดห้องของท้าวทองกีบม้าโดยเฉพาะ ซึ่งมีนักแสดงรับบทเป็นท้าวทองกีบม้า คอยบอกเล่าเรื่องราวของขนมหวานที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมไทยและโปรตุเกส ที่ดัดแปลงและใช้วัตถุดิบภายในประเทศคือ แป้ง, น้ำตาล และไข่