สำนักพระราชวังได้ประกาศสาเหตุของโศกนาฏกรรมว่า เกิดจากอุบัติเหตุพระแสงปืนลั่นโดยมกุฎราชกุมารดิเพนทรา เป็นผู้ทำพระแสงปืนลั่นในขณะที่สมาชิกพระราชวงศ์กำลังร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำ ก่อนที่องค์มกุฎราชกุมารจะทำพระแสงปืนลั่นถูกพระองค์เอง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักพระราชวังและแหล่งข่าวหลายกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดจากการที่องค์มกุฏราชกุมาณทรงบันดาลโทสะในขณะทรงวิวาทกับพระราชมารดาเรื่องการที่องค์มกุฎราชกุมาร ทรงต้องการจะอภิเษกกับสตรีจากตระกูลรานา และแหล่งข่าวอีกหลายกระแส ตั้งข้อสงสัยว่าองค์มกุฎราชกุมารทรงตกอยู่ในพระอาการมึนเมาจากน้ำจัณฑ์ (สุรา) และยาเสพติด
หลังจากจัดงานพระบรมศพเรียบร้อย ในวันที่ 3 มิถุนายน ทางการเนปาลก็ได้อัญเชิญให้มกุฎราชกุมาร ดิเพนทรา ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา แต่ในวันเดียวกัน พระองค์ก็สวรรคตลงอีกพระองค์หนึ่ง ทำให้ทางการเนปาลต้องถวายการแต่งตั้งให้เจ้าชายชญาเนนทร พระอนุชาของกษัตริย์พิเรนทรา ซึ่งมิได้ประทับในกาฐมาณฑุขณะเกิดโศกนาฏกรรม
การสวรรคตของกษัตริย์พิเรนทรา ส่งผลให้การเมืองภายในประเทศของเนปาลเกิดความปั่นป่วนขึ้นเกือบจะในทันที ประชาชนจำนวนมากได้รวมตัวกันเป็นขบวนประท้วงไปตามถนนในกรุงกาฐมาณฑุ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสืบหาความจริงของโศกนาฏกรรมโดยด่วน ประชาชนที่กำลังโกรธแค้นได้ทำลายสาธารณสมบัติ และต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนมีผู้เสียชีวิตหลายราย ทำให้ทางการต้องประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน ในขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับถูกสั่งปิดข้อหาลงข่าวที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ผู้นำกลุ่มลัทธิเหมา นายประจันดา ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ฝ่ายซ้าย ฝ่ายชาตินิยมและฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ ร่วมกันตั้งรัฐบาลเฉพาะการณ์ขึ้นในระหว่างที่ประเทศกำลังระส่ำระสาย นอกจากนี้ นายมาดาว์ กุมาร เนปาล หัวหน้าพรรคแนวร่วมคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล (Nepal Communist Party-United Marxist and Leninist : NCP-UML) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านของเนปาลได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 14 มิถุนายน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อการสวรรคตของกษัตริย์พิเรนทรา.
ผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์ครั้งนี้
สมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทระ (พระมหากษัตริย์พระชนกของผู้ต้องหา)
สมเด็จพระราชินีไอศวรรยา (พระราชินี พระชนนีของผู้ต้องหา)
มกุฎราชกุมารทิเปนทระ (ผู้ต้องหา, ภายหลังถูกยกเป็นพระมหากษัตริย์ และได้สวรรคตในเวลา 3 วันหลังก่อเหตุ)
เจ้าชายนิรชัน (พระราชโอรสพระอนุชาของผู้ต้องหา)
เจ้าหญิงศรุติ (พระราชธิดาพระขนิษฐาของผู้ต้องหา)
นายธีเปนทระ ศาหะ (พระอนุชาในสมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทระ ซึ่งถูกถอดพระอิสริยยศ)
เจ้าหญิงชยันตี (พระญาติในสมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทระ)
เจ้าหญิงศานติ (พระพี่นางในสมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทระ)
เจ้าหญิงศารทะ (พระพี่นางในสมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทระ)
นายกุมาร ขัทคะ (พระสวามีในเจ้าหญิงศารทะ)
ผู้ได้รับบาดเจ็บ ในเหตุการณ์ครั่งนี้
เจ้าหญิงโศภา (พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทระ)
นายกุมาร โครัข (พระสวามีในเจ้าหญิงศรุติ)
เจ้าหญิงโกมล (พระชายาในเจ้าชายชญาเนนทระ; ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินีแห่งเนปาลคนสุดท้าย)
นางเคตากี เชสเตอร์ (พระญาติในสมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทระ ซึ่งลาออกจากฐานันดรศักดิ์)
เจ้าชายปารัส (พระโอรสในเจ้าชายชญาเนนทระ; ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมาร)