ประธานาธิบดี ยอดนักสำรวจ
รูสเวลท์ เป็นแกนนำสำคัญในการสนับสนุนให้สหรัฐประกาศสงครามโดยมีเป้าหมายคือปลดปล่อยคิวบาและเป็นผู้ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำสงคราม นอกจากนี้ทันทีที่สงครามเริ่มต้น รูสเวลท์ก็ลาออกจากตำแหน่งและจัดตั้งหน่วยทหารม้าชื่อ รัฟไรเดอร์ ซึ่งเขาได้นำหน่วยทหารม้านี้สร้างวีรกรรมหลายครั้งจนเป็นที่เลื่องลือ
สงครามสงบในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน โดยสหรัฐได้รับชัยชนะ ทำให้สเปนยอมถอนกำลังออกจากคิวบาและสหรัฐก็ได้เข้าดูแลคิวบาเป็นเวลาหลายปีก่อนจะให้เป็นเอกราช ซึ่งชัยชนะในสงครามครั้งนี้เอง ทำให้แมคคินเลย์ชนะเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1900 อีกสมัยและเขาได้แต่งตั้งรูสเวลท์เป็นรองประธานาธิบดี ทว่าหลังรับตำแหน่งไม่นาน แมคคินเลย์เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร ทำให้รองประธานาธิบดี รูสเวลท์ ขึ้นมารับตำแหน่งแทน
เดือนมีนาคม ค.ศ.1909 หลังพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง ได้ไม่นาน ธีโอดอร์ รูสเวลท์ได้ออกเดินทางจากนิวยอร์คเพื่อดำเนินโครงการ Smithsonian-Roosevelt African Expedition ซึ่งเป็นเป็นการเดินทางท่องซาฟารีเพื่อสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในอาฟริกาตะวันออกและอาฟริกากลางโดยได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ จากสถาบันสมิธโซเนียนและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก แอนดรูว์ คาเนกี้ มหาเศรษฐี เจ้าพ่ออุตสาหกรรมเหล็กกล้า
คณะเดินทางประกอบด้วยเหล่านักวิทยาศาสตร์จากสมิธโซเนียนโดยมีนายพรานนักแกะรอยผู้เป็นตำนานนามว่า อาร์เจคันนิงแฮม เป็นผู้นำทาง และยังมีเฟรดเดอริก เซลูส์ พรานผิวขาวและนักสำรวจผู้มีชื่อเสียงร่วมทางด้วย โดยมีการว่าจ้างลูกหาบทั้งหมดห้าร้อยคนเพื่อใช้แบกหามสัมภาระ
รูสเวลท์นำเกลือมาสี่ตันเพื่อใช้รักษาสภาพหนังสัตว์ พร้อมทั้งนำเท้ากระต่ายนำโชคที่เขาได้มาจาก นักมวยชื่อ จอห์น แอล ซุลลิแวนติดตัวมาด้วย และยังนำปืนมาหลายกระบอก เช่น ปืนไรเฟิลลำกล้องแฝด500/450, ฮอลแลนด์แอนฮอลแลนด์, ปืนไรเฟิลวินเชสเตอร์.405, ปืนอาร์มีสปริงฟิลด์.30-06, ลูกซองฟอกซ์หมายเลข 12 ส่วนผู้ร่วมทีมล่าสัตว์ของเขาประกอบด้วย เคอร์มิท บุตรชายของเขา, เอ็ดการ์ อเล็กซานเดอร์ เมินส์, เอ็ดมุน เฮลเลอร์ และจอห์น อัลเดน ลอริง
รูสเวลท์กับผู้ร่วมทีมได้ล่าและวางกับดักสัตว์ทั้งหมด 11,400 ตัว โดยมีตั้งแต่แมลง ตัวตุ่น ไปจนถึงฮิปโปโปเตมัส แรดและช้าง ในจำนวนนี้มีสัตว์ใหญ่หนึ่งพันตัว ประกอบด้วย สัตว์ที่พรานนิยมล่าเป็นกีฬา (Big game) 512 ตัว ซึ่งรวมถึงแรดขาวที่หายากจำนวนหกตัวด้วย โดยตลอดการเดินทางทั้งสิ้นสิบเอ็ดเดือน คณะสำรวจได้ล่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารไป 262 ตัว
สัตว์และหนังสัตว์น้ำหนักรวมหลายตันที่ถูกรักษาสภาพด้วยเกลือถูกส่งลงเรือไปยังวอชิงตัน ดีซี ปริมาณของมันมีมากจนต้องใช้เวลาเป็นปีถึงจะขนส่งไปได้ทั้งหมดและทางสมิธโซเนียนได้แบ่งตัวอย่างสัตว์ที่ซ้ำกันจำนวนมากให้กับพิพิธภัณฑ์อื่นๆหลายแห่ง เมื่อมีเสียงตำหนิวิจารณ์ถึงจำนวนอันมากมายของสัตว์ที่ถูกล่าในครั้งนี้ รูสเวลท์ได้กล่าวว่า "ผมสมควรถูกประณามว่าทำผิด ถ้าการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและสถาบันศึกษาทางสัตววิทยาต่างๆถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผิด"
แม้การท่องซาฟารีครั้งนี้จะทำในนามของวิทยาศาสตร์ ทว่ามันก็เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคมอยู่ด้วย โดยระหว่างการเดินทางสั้นๆเพื่อล่าสัตว์ รูสเวลท์ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าพรานมืออาชีพและบรรดาครอบครัวเจ้าของที่ดิน ทั้งยังพบปะกับชนเผ่าพื้นเมืองอีกหลายเผ่า เขาได้เขียนเรื่องราวการเดินทางครั้งนี้เป็นหนังสือชื่อ African Game Trails ซึ่งได้บรรยายถึงความตื่นเต้นของการไล่ล่า,เล่าถึงผู้คนที่เขาพบและพรรณไม้กับสัตว์ป่าที่เขารวบรวมมา
นอกจากการสำรวจอาฟริกาแล้ว รูสเวลท์ยังได้ร่วมทีมสำรวจป่าดงดิบของลุ่มน้ำอเมซอน ในปี ค.ศ.1913 - 1914 ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ถูกบันทึกเป็นหนังสือชื่อ Through the Brazilian Wilderness ในครั้งนี้ รูสเวลท์ได้ร่วมงานกับพันเอก ซินดิโด รอนดอน นักสำรวจชาวบราซิล โดยใช้ชื่อโครงการว่าRoosevelt-Rondon Scientific Expedition และได้รับเงินสนับสนุนจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสหรัฐอเมริกา โดยมีข้อตกลงที่จะนำตัวอย่างของพันธุ์สัตว์ชนิดใหม่จำนวนมากมามอบให้พิพิธภัณฑ์
นอกจากพันเอก รอนดอน หัวหน้าทีมแล้ว ผู้ร่วมทีมสำรวจคนอื่น ๆ กับรูสเวลท์ประกอบด้วย เคอร์มิท บุตรชายของเขา,จอร์จ เค เชอรี่ นักธรรมชาติวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสหรัฐอเมริกา,นายสิบชาวบราซิล โจอา ไลร่า, ดร.จอช อันโทนิโอ คาจาเซร่า แพทย์ประจำทีม พร้อมกับลูกหาบและฝีพายผู้ชำนาญพื้นที่อีกสิบหกคน
คณะสำรวจมีเป้าหมายที่จะค้นหาต้นน้ำของแม่น้ำริโอ ดูวิดา (แม่น้ำแห่งความพิศวง) และล่องลำน้ำขึ้นเหนือสู่มาเดอิร่าจากนั้นจึงเข้าสู่แม่น้ำอเมซอน พวกเขาเริ่มการเดินทางครั้งนี้ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1913 โดยการล่องแม่น้ำพิศวงได้วางแผนไว้ว่าจะเริ่มต้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1914
ในการสำรวจครั้งนี้ รูสเวลท์ได้รับบาดเจ็บขณะล่องแม่น้ำพิศวง หลังจากที่เขาได้โดดลงน้ำเพื่อพยายามจับเรือแคนูไม่ให้ไปกระแทกกับหิน ทว่านอกจากบาดแผลที่ได้รับแล้ว เขายังป่วยเป็นมาลาเรียด้วย อย่างไรก็ตาม แม้สุขภาพจะย่ำแย่ รูสเวลท์ก็ยังคงร่วมทีมสำรวจต่อไป และมีส่วนช่วยในการทำแผนที่และเก็บข้อมูลภูมิศาสตร์จนกระทั่งการเดินทางสิ้นสุดลง ซึ่งในเวลาต่อมา แม่น้ำพิศวง ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ริโอ รูสเวลท์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดี ยอดนักสำรวจผู้นี้
หลังกลับจากบราซิล สุขภาพของรูสเวลท์อ่อนแอลงเนื่องจากอาการบาดเจ็บและพิษไข้เรื้อรัง เขากล่าวกับคนใกล้ชิดว่า การเดินทางครั้งนี้คงบั่นทอนอายุเขาไปสิบปี จากนั้นใน ปีค.ศ.1919 ธีโอดอร์ รูสเวลท์ก็เสียชีวิต ขณะมีอายุได้หกสิบปี
ขอบคุณ komkid