ภิกษุณีผู้ทุกข์ทรมานมากที่สุด

"ปฏาจารา" พระสาวิการูปหนึ่ง เป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงสาวัตถีเป็นหญิงรูปร่างงดงามและได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ครั้นนางมีอายุได้ 16 ปีได้หลงรักชายคนใช้ในบ้านของตนเอง

ต่อมาบิดามารดาได้จัดเตรียมหาชายหนุ่มในชนชั้นเดียวกันมาแต่งงานด้วยนางจึงได้นัดแนะให้ชายคนใช้พาหนี แล้วไปสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในชนบทอันทุรกันดารแห่งหนึ่ง ชีวิตเริ่มแรกของนางปฏาจารามีความสุขมาก เพราะได้อยู่ใกล้ชิดกับชายคนรัก

เวลาผ่านไปไม่นาน นางปฏาจาราตั้งครรภ์ ครั้นถึงเวลาใกล้คลอดนางมีความกังวลใจ เพราะไม่มีบิดามารดาและญาติอยู่ใกล้ชิด นางจึงขอร้องให้สามีพากลับไปหาบิดามารดา สามีปฏิเสธคำขอร้อง เพราะกลัวเกรงบิดามารดาของนางจะเอาโทษ

นางจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพียงลำพัง นางได้คลอดบุตรคนแรกในระหว่างทางเมื่อสามีตามไปพบ เขาได้ชี้แจงเหตุผลต่างๆ จนพานางกลับบ้านสำเร็จ

เวลาต่อมา นางได้ตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่สองและได้ขอร้องสามีเหมือนครั้งก่อน แต่สามีปฏิเสธคำขอร้องเช่นนั้นอีกนางจึงพาบุตรน้อยผู้กำลังหัดเดินหนีออกจากบ้าน

ในระหว่างทางนางปวดท้องอย่างรุนแรง เพราะกำลังจะคลอดบุตรฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก สามีตามไปพบนางดิ้นทุรนทุรายอยู่ท่ามกลางสายฝนจึงไปตัดไม้เพื่อนำมาทำที่กำบังฝนชั่วคราว แต่เขาถูกงูพิษกัดถึงแก่ความตาย

นางปฏาจาราคลอดบุตรด้วยความยากลำบาก แล้วนางอุ้มทารกและจูงบุตรน้อยตามไปพบศพของสามีจึงมีความเศร้าโศกเสียใจมาก นางตัดสินใจจะพาบุตรไปหาบิดามารดาในเมือง

เมื่อนางมาถึงลำธารใหญ่ที่น้ำกำลังไหลเชี่ยวนางไม่อาจจะพาบุตรข้ามน้ำพร้อมกันได้ จึงให้บุตรคนโตยืนรอที่ฝั่งข้างหนึ่งแล้วอุ้มทารกแรกเกิดเดินข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง และวางทารกน้อยไว้ที่อันเหมาะสม

ขณะเดินข้ามน้ำมาถึงกลางน้ำ เพื่อรับบุตรคนโตนางเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่งกำลังบินโฉบลงเพื่อจิกทารก เพราะมันเข้าใจว่าเป็นก้อนเนื้อนางจึงยกมือขึ้นไล่เหยี่ยว แต่ไม่อาจช่วยชีวิตทารกน้อยได้ เพราะเหยี่ยวมองไม่เห็นอาการของนางที่ขับไล่จึงเฉี่ยวทารกน้อยของนางไป

บุตรคนโตมองเห็นนางยกมือขึ้นทั้งสองข้าง ก็เข้าใจว่ามารดาเรียกตนจึงก้าวลงสู่แม่น้ำอันเชี่ยวและถูกน้ำพัดพาหายไป

นางปฏาจาราได้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในเวลาใกล้กัน แต่นางยังตั้งสติได้นางเดินร้องไห้เข้าไปสู่เมืองสาวัตถีและได้ทราบข่าวจากชาวเมืองคนหนึ่งในระหว่างทางว่าลมและฝนได้พัดเรือนบิดามารดาของนางพังทลาย และเจ้าของบ้านก็ตายไปด้วย

ภิกษุณีผู้ทุกข์ทรมานมากที่สุด

ครั้นเมื่อนางทราบช่าวเช่นนี้ ก็ไม่อาจตั้งสติได้ นางสลัดผ้านุ่งทิ้งแล้ววิ่งบ่นเพ้อด้วยร่างกายอันเปลือยเปล่า เข้าไปวัดพระเชตวันมหาวิหารขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทประชาชนเห็นนางแล้วร้องบอกกันว่าคนบ้าๆ อย่าให้เข้ามา

พระพุทธองค์ตรัสว่าปล่อยให้นางเข้ามาเถิด แล้วตรัสเรียกเตือนสตินางกลับได้สติ เกิดความละอายนั่งลง ใครคนหนึ่งในที่ประชุมนั้นโยนผ้าให้นางนุ่งห่มพระองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดกับนางโดยย่อว่า ปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่สามารถข้องกับคนที่ตายแล้วได้ ผู้รักษาศีลแล้วพึงชำระทางไปพระนิพพาน


ภิกษุณีผู้ทุกข์ทรมานมากที่สุด

นางฟังพระธรรมเทศนา อันแสดงถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งพิจารณาไปตามพระธรรมเทศนานั้นแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล และทูลขออุปสมบทพระองค์จึงทรงอนุญาตให้นางบวชในสำนักนางภิกษุณี

ต่อมานางภิกษุณีปฏาจาราได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ว่าคนที่ไม่เห็นความเสื่อมสิ้นไปในเบญจขันธ์ แม้มีชีวิตอยู่ร้อยปีก็ไม่ประเสริฐเท่าคนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวแต่มองเห็นความเสื่อมสิ้นไปในเบญจขันธ์ เมื่อจบพระธรรมเทศนานางภิกษุณีปฏาจาราก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

พระปฏาจาราเถรีมีความชำนาญในพระวินัยมากจนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงพระวินัย และพระปฏาจาราเถรีได้เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระปฏาจาราเถรีมีคุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง ดังนี้
1. เป็นผู้มีความตั้งใจจริง นิสัยตั้งใจจริง ต้องทำตามที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จนี้ ได้มีมาตั้งแต่พระปฏาจาราเถรียังเป็นเด็กสาวแต่เนื่องจากยังขาดประสบการณ์และขาดวิจารณญาณ จึงทำให้ผิดพลาดในชีวิตโดยสังเกตได้ว่า นางตั้งใจจะแต่งงานกับขายคนที่ตนรักไม่ต้องการแต่งงานกับคนที่บิดามารดาเลือกให้ ก็ต้องทำให้ได้

แต่เมื่อได้บวชเป็นนางภิกษุณีแล้วนางได้สานต่อความตั้งใจนั้นในทางที่ถูกต้องนั่นคือความตั้งใจศึกษาพระวินัยปิฎกให้เชี่ยวชาญ ก็ไม่ลดละความพยายามนางได้ใช้วิริยะอุตสาหะเป็นอย่างมาก จนกระทั่งสำเร็จตามปรารถนาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นผู้เลิศกว่านางภิกษุณีรูปอื่นในด้านผู้ทรงพระวินัย

2. เป็นผู้แนะแนวชีวิตที่ดี ชีวิตของนางปฏาจาราเถรี เป็นชีวิตที่มากด้วยประสบการณ์ได้ผ่านมาทั้งความสุข ความสมหวัง และความทุกข์ความผิดหวังอย่างสาหัสจนเกือบกลายเป็นคนบ้าเสียสติถาวร

เมื่อนางได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตแห่งชีวิตเข้ามาสู่ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาแล้วประสบการณ์เหล่านั้นกลับเป็นประโยชน์แก่นางและคนอื่น คือสตรีอื่นๆที่มีปัญหาชีวิตพากันมาขอคำแนะนำ นางได้ให้คำแนะนำที่ดี และช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาเหล่านั้น จนกระทั่งได้รับยกย่องว่า "เป็นครูยิ่งใหญ่" ของพวกเขา

• เสริมสาระ
สตรีอินเดียในสมัยโบราณนิยมคลอดบุตรที่บ้านสกุลเดิมของตน

ธรรมเนียมพราหมณ์อย่างหนึ่งมีว่า หญิงใดจะให้กำเนิดบุตรต้องกลับไปคลอดที่บ้านสกุลเดิมของตน หาคลอดที่บ้านของสามีไม่ การเชื่อเช่นนี้อาจเนื่องมาจากเหตุผลบางอย่างเพราะตามปกติหญิงที่กำลังจะให้กำเนิดบุตรนั้น มีความต้องการความอบอุ่นทางใจต้องการคนช่วยเหลือ และคอยเป็นห่วงเป็นใยความอบอุ่นเช่นนี้อาจหาได้ยากจากญาติของฝ่ายสามีตรงกันข้ามหญิงนั้นจะรู้สึกสบายใจและอบอุ่นใจมาก หากได้อยู่ใกล้ญาติพี่น้องของตนเองซึ่งรักและเข้าใจเธอมากกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ โดย รศ.ดนัย ไชยโยธา

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558โดย กองบรรณาธิการ)

ขอบคุณ ::  pantip.com


ภิกษุณีผู้ทุกข์ทรมานมากที่สุด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์