"เรื่องที่ลิเกเล่นจะเรื่อกว่ากระไรข้าพเจ้าก็ไม่ทราบอีก แต่พวกเด็กๆ เรียกกันว่าเรื่องนางหอยแครง คือพอเปิดฉากก็มีแขกเทศแต่งตัวด้วยเครื่องขาวล้วนๆ แวววาวด้วยดิ้นเลื่อม ถือเทียนออกมาร้องเบิกโรงให้ศีลให้พรแก่เจ้าของงานและคนดู แล้วก็มีตัวตลกออกมาซักถามเป็นการเล่นตลกไปในตัว ร้องและเต้นรำๆ อยู่ประมาณ1 ชั่วโมงก็เข้าโรง เขาเรียกลิเกตอนนี้ว่าออกแขก ต่อจากนั้นก็ถึงชุดแขกแดง คือแต่งตัวด้วยเครื่องชุดสีแดงสวยงาม มีบริวารออกมาด้วยหลายคน ล้วนแต่งตัวเป็นแขก กิริยาของตัวนายทำนองเป็นเจ้า
คือเป็นรายาหรือสุลต่านอะไรสักอย่างหนึ่ง ออกมาแสดงบทพอสมควร ก็สั่งบริวารให้เตรียมเรือไปชมทะเล ในการชมทะเลมีการตีอวน ตอนนี้มีการเล่นตลกขบขัน เด็กชอบมาก ในที่สุดหอยแครงตัวใหญ่ก็ติดแห ในหอยมีนางงามเราเรียกว่า นางหอยแครง เมื่อตัวนายเกี้ยวพาราสีนางหอยแครงเป็นที่ตกลงกันแล้ว ก็แล่นเรือกลับ เป็นจบเรื่องการร้องเพลง ตลอดจนการพูดดัดเสียงแปร่งเป็นแขกทั้งหมด"
ที่มา: อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระยาอานุภาพไตรภาพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อ้างต่อจากบทความ "ลิเก ก็มีเค้า มาจากอิหร่าน [เปอร์เซีย]" โดย ทองเบิ้ม บ้านด่าน ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2523