พระปฐมบรมราชโองการที่"พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ"ทรงตรัสในวันทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จขึ้นครองราชย์ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็น "ฉัตรมงคล"ซึ่งทางรัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการเป็นประจำทุกปี
ย้อนไปวันนั้น เมื่อ 70 ปีที่แล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 รัฐบาลในขณะนั้นได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลฯขอพระราชทานอัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
เนื่องจาก ขณะนั้น พระองค์ ทรงมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงยังมิได้ทรงประกอบพิธีพระบรมราชาภิเษก และยังทรงศึกษาไม่จบ จึงได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้ทรงเปลี่ยนการศึกษาจากสาขาวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิชากฏหมายและการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับพระราชภาระในฐานะองค์พระประมุขของชาติ โดยมี คณะอภิรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ในขณะนั้น ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร , พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) และพลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ)
พิธีบรมราชาภิเษก หมายถึง พระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ หรือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรับรองฐานะความเป็นประมุขของรัฐอย่างเป็นทางการ
พระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า "พระบาท"นำหน้าคำว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และจะยังไม่ใช้นพปฎลเศวตฉัตรหรือฉัตร 9 ชั้น อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เมื่อสำเร็จการศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 และจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493ในวันนั้น ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ว่า
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
นับตั้งแต่วันที่ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า " เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม " พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ(รัชกาล ที่9) ได้ทรงอุทิศพระวรกาย ประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์ อย่างต่อเนื่อง ทรงบำเพ็ญพระองค์อยู่ในทศพิศราชธรรม หรือ ธรรม 10 ประการของพระราชา อย่างเคร่งครัด ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของพระองค์
....ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อมขอเดชะ...