“พระนางเธอลักษมีลาวัณ” มเหสีผู้โดดเดี่ยว ที่ถูกฆาตกรรมเมื่อ พ.ศ. 2504 ที่ผ่านมา

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นพระขนิษฐาต่างชนนี (น้องสาวต่างมารดา) ของพระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

 

"พระนางเธอลักษมีลาวัณ" มเหสีผู้โดดเดี่ยว ที่ถูกฆาตกรรมเมื่อ พ.ศ. 2504 ที่ผ่านมา


“พระนางเธอลักษมีลาวัณ” มเหสีผู้โดดเดี่ยว ที่ถูกฆาตกรรมเมื่อ พ.ศ. 2504 ที่ผ่านมา

"พระนางเธอลักษมีลาวัณ" มีพระนามเดิมว่า "หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล" ทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด วรวรรณ (สกุลเดิม มนตรีกุล) ทรงได้พบกับพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ซึ่งนับเป็นงานชุมนุมของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งผู้ใหญ่และหนุ่มสาว ในงานนี้บรรดาท่านหญิงทั้งหลายของราชสกุลวรวรรณได้เสด็จมาในงานนี้ด้วยหลายองค์ ซึ่งรวมไปถึง หม่อมเจ้าวรรณวิมล (ต่อมาคือ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี) จนทำให้ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก

หลังจากที่ทรงพบปะกับเหล่าท่านหญิงจากตระกูลวรวรรณไม่กี่วัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้พระธิดาทั้งหลายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังนี้

หม่อมเจ้าวรรณวิมล เป็น หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี
หม่อมเจ้าวิมลวรรณ เป็น หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมร
หม่อมเจ้าพิมลวรรณ เป็น หม่อมเจ้านันทนามารศรี
หม่อมเจ้าวรรณพิมล เป็น หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ
หม่อมเจ้าวัลลีวรินทร์ เป็น หม่อมเจ้าศรีสอางค์นฤมล

และในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนา "หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี" ขึ้นเป็น "พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี" ในฐานะพระคู่หมั้นเดียวกัน แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องถอนหมั่น (อ่านเรื่องราว คลิกที่นี่)

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงถอนหมั้นกับพระวรกัญญาปทานเพียงไม่กี่เดือน ก็ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ" ทันที พร้อมกับทรงหมั้นและมีพระราชวินิจฉัยว่า จะทรงทำการราชาภิเษกสมรสด้วย กระนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถึงกับได้ประทานกลอนเตือนสติพระธิดา ความว่า

แม้ลูกรักพ่อขอให้นึก
แต่รู้สึกเสงี่ยมองค์อย่าหลงเหิม
ถึงแม่ติ๋วลอยละลิ่วก็ติ๋วเดิม
เดชเฉลิมบุญเราเพราะเจ้าเอย

จากนั้นหลังจากการเฉลิมพระยศเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ" ได้เพียง 1 เดือน 19 วัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงอภิเษกสมรสกับพระสุจริตสุดา (ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี) พระองค์จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัย "แยกกันอยู่" กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ทั้งที่ยังมิทันได้อภิเษกสมรสกัน จากนั้นไม่นานพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณก็ได้รับโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็น "พระนางเธอลักษมีลาวัณ" ซึ่งถือเป็นการปลอบพระทัยและดำรงไว้ซึ่งสัญญาที่จะ "ทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง..." ดังบทกลอนที่พระนางเธอ ได้นิพนธ์ไว้เมื่อครั้งทรงรับหมั้น

หลังจากนั้นพระนางเธอลักษมีลาวัณ จึงตัดสินพระทัยที่จะแยกพระตำหนักไปประทับอยู่ห่างจากเจ้าพี่เจ้าน้อง ทรงประทับอยู่อย่างสันโดษ และเพื่อเลี่ยงความเงียบเหงา พระนางจึงทุ่มเทไปกับงานพระนิพนธ์ และการเขียนบทละคร และการรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา ทรงใช้เวลาที่มีอยู่ในการประพันธ์นวนิยาย ร้อยกรอง และบทละครจำนวนมาก โดยใช้นามปากกาว่า ปัทมะ, วรรณพิมล และทรงพระนิพนธ์บทกวี นวนิยายหลายเรื่อง เช่น ชีวิตหวาม เรือนใจที่ไร้ค่า ยั่วรัก โชคเชื่อมชีวิต ภัยรักของจันจลา และเสื่อมเสียงสาป

จนล่วงเข้าวัยชรา พระนางเธอลักษมีลาวัณก็ทรงมีพระอารมณ์หงุดหงิดง่ายไม่คงที่ตามวัย แต่ยังทรงช่างตรัสเล่าเรื่องต่างๆ ประทานแก่ผู้ที่ไปเฝ้าเสมอ ในบางครั้งทรงเล่าถึงเรื่องราวร้ายๆ ที่เข้ามาสู่พระชนม์ชีพ ที่ประทับอยู่อย่างสันโดษก็ด้วยเหตุผล ยังไม่เคยต้องพระทัย (ยังไม่ถูกใจ) ข้ารับใช้คนใด ใครมาอยู่พักเดียวเมื่อทำไม่ดีก็ถูกพระนางไล่ออกไป เป็นเช่นนี้จนไม่มีใครกล้าเข้าหา โดยได้ทรงบรรยายไว้เป็นคำกลอนพิมพ์แจกในวันฉลองพระชนมายุครบ 60 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2502 ความว่า

ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่เปล่าเปลี่ยว
ไม่มีบ่าวโจษจันฉันกริ้วแหว
ขืนมีบ่าวเข้ามามันตอแย
ยั่วยุแหย่ยุ่งขโมยโอยรำคาญ
บ้างเข้ามาทำท่าเป็นบ้างั่ง
เรียกจะสั่งทำใดไม่ขอขาน
สั่งอย่างโง้นอย่างงี้เลี่ยงลี้งาน
ใช่ฉันพาลเป็นดังนี้ทุกวี่วัน
พอไล่มาใหม่อยู่ไม่ช้า
แรกทำดีเด่นเป็นขยัน
พอใช้เพลินไม่เกินสิบห้าวัน
คนขยันโกงยับเห็นกับตา
เบื่อเต็มทนเบื่อคนสุดทนสู้
เลยยอมอยู่ผู้เดียวเลิกเที่ยวหา
มีคนใช้ประสาทเสียเพลียอุรา
เราว่าข่มเหงเพลงทารุณ......

จนกระทั่งวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 นายแสง หรือ เสงี่ยม หอมจันทร์ กับนายวิรัช หรือเจริญ กาญจนาภัย อดีตคนสวนที่ถูก พระนางเธอลักษมีลาวัณไล่ เคยออกไปเห็นว่าพระนางเธอทรงเป็นเพียงเจ้านายสตรีทั้งยังชราและอาศัยเพียงลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคาทั้งสองจึงกลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ ทั้งคู่ได้ลอบทำร้ายพระนางจนสิ้นพระชนม์

ลำดับเหตุการณ์จากการบันทึก

18 มีนาคม 2504
พระนางเธอลักษมีลาวัณ เสด็จพระดำเนินไปทรงร่วมงานการกุศลของมูลนิธิสตรีภาคพื้นแปซิฟิก นำโดยหม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐา โดยมีชื่องานว่างานเมตตาบันเทิงรื่นฤดี ซึ่งขอพระราชทานพระอนุญาตจัดขึ้นที่วังรื่นฤดีของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในงาน ซึ่งเป็นพระกรณียกิจครั้งสุดท้ายของพระนางเธอลักษมีลาวัณ

2 กันยายน 2504
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดาของพระนางเธอ ทั้งยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตข้าในพระองค์ของพระนางเธอฯ ในเวลา 15.30 น. ว่าเธอกับมารดาไปกดกริ่งและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสายกลัวว่าอาจจะมีเหตุร้าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ จึงเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ไปยังวังลักษมีวิลาศ ก็เสด็จขึ้นชั้นบน พร้อมตรัสเรียกพระขนิษฐาตลอดเวลา เมื่อเสด็จถึงห้องพระบรรทมพบว่าเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ในห้องถูกรื้อกระจาย พอเสด็จลงมาด้านล่างก็ได้กลิ่นเหม็นคละคลุ้งขึ้นมา เมื่อทรงตรวจดูก็พบพระศพของพระนางเธอลักษมีลาวัณอยู่บริเวณข้างโรงรถ จากนั้นจึงทรงโทรศัพท์แจ้งตำรวจ สน.พญาไท เพื่อให้มาชันสูตรพระศพ เมื่อเสด็จไปที่ด้านหลังวัง ก็ทรงพบกระเป๋าทรงของพระนางเธอทิ้งอยู่ เมื่อตรวจสอบก็พบว่าเงินสดจำนวนหนึ่งและปืนพกขนาดเล็กได้หายไป เหล่าพระราชวงศ์ พระอนุวงศ์ เมื่อทราบข่าวก็ทรงรีบเสด็จรุดมาเฝ้าพระศพที่วังลักษมีวิลาส

3 กันยายน 2504
เคลื่อนพระศพจากวังลักษมีวิลาสไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อทำการชันสูตรพระศพโดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธาน และมีตำรวจ 30 นายรักษาความปลอดภัยรอบโรงพยาบาลตำรวจ มิให้ผู้ใดเข้าใกล้พระศพได้ ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่าพระนางเธอฯ สิ้นพระชนม์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 วัน

4 กันยายน 2504
เคลื่อนพระศพพระนางเธอลักษมีลาวัณสู่วัดมกุฎกษัตริยาราม โดยเชิญพระศพประดิษฐานในพระโกศกุดั่นน้อย ประดิษฐานที่ศาลามรุพงศ์ ภายใต้ฉัตรโหมดทอง 5 ชั้น รายล้อมด้วยอภิรุม ชุมสาย ฉัตร บังแทรก บังสูรย์ พัดโบก โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นองค์ประธานในการพระราชทานน้ำสรงพระศพ

ภายหลังผู้ต้องหาทั้งสองถูกจับได้ และถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ทั้งสองได้รับสารภาพ จึงได้รับการหย่อนโทษหนึ่งใน 3 คือให้จำคุกตลอดชีวิต เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ด้วยพระนางเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า สำนักพระราชวัง มีประกาศเรื่อง พระนางเธอลักษมีลาวัณ ในรัชกาลที่ 6 สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2504 มีใจความว่า "พระนางเธอลักษมีลาวัณ ได้เสด็จสิ้นพระชนม์จากการถูกคนร้ายลอบปลงพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความสลดพระราชหฤทัยยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนักมีกำหนด 15 วัน ประดิษฐานพระศพ ณ ศาลามรุพงศ์ ในวัดมกุฎกษัตริยาราม"

ท่ามกลางความเจริญที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อนุสรณ์เรื่องความรัก ความอาภัพ ความทรงจำต่อพระองค์ก็เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางเธอลักษมีลาวัณ วังลักษมีวิลาสได้ถูกทิ้งร้างว่างเปล่าอยู่นานหลายปี จนต่อมามีการเจรจาขอซื้อที่ดินผืนนี้จากคริสตจักรแบ๊บติส จนได้กลายเป็น คริสต์จักรนิมิตใหม่ ศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์ บริเวณสี่แยกพญาไทในปัจจุบัน


พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงพระสิริโฉมงดงามมากพระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงพระสิริโฉมงดงามมาก


พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับพระนางเธอลักษมีลาวัณ พร้อมลายพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับพระนางเธอลักษมีลาวัณ พร้อมลายพระราชหัตถเลขา


พระนางเธอลักษมีลาวัณพระนางเธอลักษมีลาวัณ


พาดหัวข่าวของเหตุการณ์ในขณะนั้นพาดหัวข่าวของเหตุการณ์ในขณะนั้น


พาดหัวข่าวของเหตุการณ์ในขณะนั้นพาดหัวข่าวของเหตุการณ์ในขณะนั้น


ประชาชนเฝ้าดูการทำแผนของฆาตกร ผู้ปลงประชนม์จนแน่นโรงพักพญาไทประชาชนเฝ้าดูการทำแผนของฆาตกร ผู้ปลงประชนม์จนแน่นโรงพักพญาไท


ท่ามกลางความเจริญและเวลาที่เดินไป อนุสรณ์เรื่องความรัก ความอาภัพ ความทรงจำต่อพระองค์ก็อาจเริ่มเลือนหท่ามกลางความเจริญและเวลาที่เดินไป อนุสรณ์เรื่องความรัก ความอาภัพ ความทรงจำต่อพระองค์ก็อาจเริ่มเลือนห

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
- วิกิพีเดีย
- bkkvariety.com/327
-topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/04/K7774048/K7774048.html


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์