เรื่องถ้ำพระบุพโพนี้ยังปรากฏเรื่องราวตอนหนึ่งในงานพระบรมศพ พระบรมวงศ์ศานุวงศ์พระองค์หนึ่งเพราะในอดีตนั้นเรื่องของบุพโพเป็นเรื่องหนักใจของของคนในอดีตที่ยังไม่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพราะพระบุพโพมักจะส่งกลิ่นรบกวนในเวลาที่มีสวดบำเพ็ญพระราชกุศล ทำให้เจ้าพนักงานต้องสุมเครื่องไม้สมุนไพรหอมดับกลิ่นกันอยู่เสมอ เพราะต่างก็กลัวว่ากลิ่นจะแรงเกินไปเกรงจะเสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศของเจ้านายในพระโกศ จึงนำความกราบบังคมทูลลงความเห็นกันว่าให้เจาะพื้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อประดิษฐานถ้ำบุพโพไว้ลึกๆ เพื่อที่จะได้ไม่มีกลิ่นมารบกวนงานพระราชพิธี
ในส่วนของการจัดการพระบุพโพขั้นต่อไปนั้นคือ ก่อนถึงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง หรือพระราชทานเพลิง เจ้าพนักงานก็จะขึ้นไปยังพระแท่นฯ ทำการเปลื้องเครื่องพระโกศทองออก ( ที่เห็นเป็นโกศลองนอกประดับอัญมณี ) ให้เหลือเพียงพระโกศลองใน ( ที่เห็นเป็นโกศโลหะสีทองไม่ประดับอัญมณี ) จากนั้นก็อัญเชิญพระโกศลองในที่ทรงพระศพอยู่ลงมา จากนั้นอัญเชิญพระศพออกมาทำการเปลี่ยนผ้าห่อพระศพผืนใหม่ถวาย ส่วนพระบุพโพนั้นก็เชิญมาเคี่ยวในกระทะใบบัวใส่เครื่องไม้สมุนไพรหอมเคี่ยวให้แห้งแล้วห่อด้วยผ้าขาวอีกครั้ง จากนั้นก็นำทั้งพระบุพโพที่ผ่านการเคี่ยว และผ้าห่อพระศพผืนเก่าเข้าไปในหีบไม้ที่มีลักษณะเป็นหีบสี่เหลี่ยมจัตุรัสทาสีทอง หรือสีขาวแล้วอัญเชิญไปพระราชทานเพลิงที่เมรุผ้าขาว ( เมรุขนาดเล็กทาสีขาวสร้างขึ้นเฉพาะงาน ) ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์