ธรรมเนียมโบราณ “การถวายตัวในราชสำนัก”

ในอดีตนั้นคำว่า “ส่งเข้าถวายตัว” เปรียบเสมือนเป็นคำกายสิทธิ์ ที่เด็กๆได้ยินแล้วจะเกิดความตื่นเต้นเป็นพิเศษ อาจมีทั้งอารมณ์ปราบปลื้มยินดีและหดหู่เสียใจในเวลาเดียวกัน การเข้าถวายตัวนั้นก็คือการเข้าไปเป็นข้าทูลละอองพระบาทในพระเจ้าอยู่หัว หรือเหล่าพระมเหสีเทวีทั้งหลาย รวมไปถึงเหล่าพระราชวงศ์พระองค์อื่นอีกด้วย

โดยธรรมเนียมการเข้าถวายตัวนี้ถือเป็นธรรมเนียมโบราณมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่เข้าถวายตัวนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้หญิงเล็กๆ ไปจนถึงวัยดรุณีแรกรุ่นที่ล้วนแต่เป็นราชนิกุล เป็นลูกหลานขุนนางบรรดาศักดิ์ เพราะเมื่อบุตรหลานของตนได้เข้าถวายตัวไปอยู่ในความดูแลของเหล่าพระราชวงศ์แล้ว ก็จะกลายเป็นข้าหลวงเด็ก

ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของชาววังชั้นกลาง-สูง แล้วจะได้รับการศึกษาอย่างชนชั้นสูง เนื่องจากเจ้านายแต่ละพระองค์ก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามาแล้วในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกริยามารยาทชั้นสูง ด้านภาษาต่างประเทศ อักษรศาสตร์ งานเรือนชั้นสูง รวมไปถึงด้านการค้าการลงทุนอีกด้วย จึงเรียกได้ว่า ในพระบรมมหาราชวัง หรือวังหลวงนั้นเปรียบเสมือนศูนย์กลางที่รวมเอาความเจริญความทันสมัยในทุกๆด้านไว้มากที่สุดของประเทศ เเละมีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศที่คนภายนอกยากที่จะเข้าถึง

ในการถวายตัวแต่ละครั้งนั้นผู้เข้าถวายตัวจะต้องเตรียมธูปเทียนแพ เพื่อเชิญเข้าไปถวายแก่เจ้านายพระองค์นั้นๆ และจะต้องทำการตกลงกันระหว่างเจ้านายพระองค์นั้นกับผู้ปกครองหรือผู้นำเข้าไปถวายว่า เด็กคนนี้จะ “ถวายเฉย” หรือ “ถวายขาด” ซึ่งการถวายตัวทั้ง 2 แบบนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ การถวายเฉยจะคล้ายกับการเข้าไปอยู่โรงเรียนกินนอนประจำ เมื่อเรียนจบหลักสูตรก็สามารถทูลลากลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ประกอบอาชีพมีครอบครัวตามที่อยากจะเป็น หรือประสงค์ที่จะเป็นข้าทูลละอองพระบาทต่อไปก็ยังได้

แต่หากเป็นการถวายขาดก็หมายความว่า ผู้ที่ถูกถวายตัวนั้นเมื่อได้รับการศึกษาเลี้ยงดูอย่างสตรีชั้นสูงแล้วก็จะเป็นข้าทูลละอองพระบาทอยู่ในวังหลวงต่อไป ผู้ปกครองจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆนอกจากความเป็นพ่อและแม่ ดังนั้นผู้ถูกถวายตัวจะเป็นคนของเจ้านายพระองค์นั้น ตำแหน่งหน้าที่ที่ทำ เช่น เป็นข้าหลวงคนสนิท หรือเลขา รวมไปถึงดูแลกิจการต่างๆ เป็นต้น แต่ถ้าบุญพาวาสนาส่งก็อาจถูกถวายขึ้นไปเป็นสนมเจ้าจอมได้ และถึงแม้ว่าเจ้านายพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไป ก็ยังต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ หรือเป็นมรดกของหลวงต่อไป ทั้งอิสรภาพทางร่างกายและหัวใจ จะสิ้นสุดกรรมสิทธิ์ในตัวก็ต่อเมื่อโปรดเกล้าให้พ้นสภาพการเป็นคนของหลวง หรือกราบบังคมทูลลาออกจากการเป็นข้าหลวง และรอโปรดเกล้าต่อไป

เช่น จากเรื่องสี่แผ่นดิน ที่แม่แช่ม แม่ของพลอยได้นำพลอยเข้าถวายตัวเป็นข้าทูลพระบาทในเสด็จพระองค์หญิง เพื่อให้ได้รับการเลี้ยงดูและศึกษาอย่าสตรีชั้นสูง โดยการถวายตัวในครั้งนั้นเป็นการถวายขาด เมื่อพลอยโตเป็นสาวแล้วก็เป็นที่หมายปองของคุณเปรมผู้เป็นมหาดเล็กหลวง ดังนั้นคุณเปรมจึงให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอตัวแม่พลอยมาจากท่านพระยาพิพิธฯ

ผู้เป็นพ่อของแม่พลอย ท่านพระยาพิพิธฯจึงกล่าวว่า “เห็นทีจะลำบาก เพราะแม่แช่ม แม่ของพลอยได้ถวายพลอยเป็นข้ารับใช้ในเสด็จพระองค์หญิงตั้งแต่ยังเล็ก ถวายขาดซะด้วย ฉันจึงถือว่าพลอยเป็นกรรมสิทธิ์ของเสด็จพระองค์หญิง การออกเหย่าออกเรือนเห็นทีจะเป็นพระธุระของเสด็จพระองค์หญิงท่าน”

เป็นประเพณีเพื่อเป็นการประดับเกียรติยศด้วย เพราะถ้าบังเอิญหลานสาวหรือบริวารที่ได้ชุบเลี้ยงอบรมมานั้น เป็นดรุณีรูปงามที่มีโอกาสติดหน้าตามหลัง บังเอิญมีโชควาสนาดีเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ก็ย่อมเป็นความชื่นชมที่ได้นำเบิกถวาย ทั้งจะได้มีบริวารอันมีเกียรติอยู่ในสังกัดด้วย เคยมีปรากฏว่า เจ้าจอมบางท่านได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศทรัพย์สินเป็นอันมาก บางทีก็ส่งผลพลอยได้ออกมาสู่ญาติพี่น้องให้มีความเจริญในหน้าที่ราชการ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามสมควร

ข้อมูลและภาพประกอบจาก คลังประวัติศาสตร์ไทย

ธรรมเนียมโบราณ “การถวายตัวในราชสำนัก”


ธรรมเนียมโบราณ “การถวายตัวในราชสำนัก”

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์