หลังเหตุการณ์สงบเรียบร้อย รัฐบาลได้นำศพของผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และได้จัดพิธีฌาปนกิจอย่างยิ่งใหญ่บนท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดงานศพของสามัญชนบนท้องสนามหลวง จากนั้นได้บรรจุอัฐิไว้ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองตามประเพณีของทหารและตั้งไว้ที่กรมกองต้นสังกัดของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง ๑๗ นาย เป็นเวลา ๓ ปี ต่อมาเมื่อทางราชการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จึงนำอัฐิของวีรชน ๑๗ นาย มาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์
ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ เริ่มปรากฏนับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ก่อนที่จะมีพิธีฌาปนกิจทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช ณ ท้องสนามหลวง โดยในวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติด่วนเรื่อง "ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมคมนาคมกรุงเทพพระมหานครกับดอนเมือง และเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์ทหารปราบกบฏ พ.ศ. ๒๔๗๖" ซึ่งเหตุผลสำคัญในการเสนอญัตตินี้คือ การตัดถนนจากสนามเป้าไปยังดอนเมืองเพื่อเหตุผลยุทธศาสตร์ทางการทหารในการควบคุมพื้นที่ดอนเมืองและต้องการพัฒนาสนามบินดอนเมืองในเชิงพาณิชย์
ขณะที่การสร้างอนุสาวรีย์เป็นผลพลอยได้จากการตัดถนนเส้นนี้ ดังสะท้อนได้จากเมื่อ นายไสว อินทรประชา ส.ส. สวรรคโลก ถามรัฐบาลว่า
‘...สร้างอนุสาวรีย์นี้สำหรับทหารผู้ปราบกบฏที่ได้เสียชีวิตหรือหมายความว่าทหารทุกคนผู้ปราบกบฏ' พระยาพหลฯ ได้ตอบว่า ‘ในเรื่องอนุสาวรีย์นี้ ความประสงค์เดิมเราไม่ได้คิดว่าจะสร้างเลย แต่เมื่อบังเอิญสร้างถนนเช่นนี้ก็ประจวบเหมาะ จึ่งเลยถือโอกาสสร้างอนุสสาวรีย์นี้ด้วย'
ทั้งนี้ ตามกฎหมายข้างต้น อนุสาวรีย์ปราบกบฏจะถูกสร้างขึ้นบริเวณลานกว้างบนถนนที่ตัดระหว่างถนนสายกรุงเทพฯ-ดอนเมือง หรือถนนประชาธิปัตย์ (ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ถนนพหลโยธิน' เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)) ซึ่งเป็นถนนใหญ่จากถนนยิงเป้า (สนามเป้า) ไปยังดอนเมือง กับถนนที่ตัดจากสถานีรถไฟหลักสี่ (ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของถนนแจ้งวัฒนะ)
โดยลานนี้มีขนาดกว้าง ๑๒๒.๕๐ เมตร ยาว ๙๐.๐๐ เมตร และตามกฎหมายฉบับนี้ให้ถือว่าลานนี้เป็นส่วนหนึ่งของถนน...