อย่าง ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ถูกอ้างมากที่สุด นักประวัติศาสตร์โดยมากก็เชื่อว่า เป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง
ดังนั้น ประเพณี "ยี่เป็ง" ของเชียงใหม่ ที่บางตำราอ้างว่าเป็นประเพณีโบราณที่รับต่อมาจากยุคสุโขทัยเป็นราชธานี ก็ยากที่จะเชื่อถือได้
การสันนิษฐานว่า คนในยุครัตนโกสินทร์เป็นผู้นำประเพณีนี้ไปเผยแพร่จึงมีความเป็นไปได้มากกว่า ดังที่ สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เสนอว่า เจ้าดารารัศมีน่าจะเป็นคนแรกที่นำประเพณีนี้ลอยกระทงมายังเชียงใหม่
"...เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามแบบประเพณีของกรุงเทพฯ ผู้ที่เริ่มการลอยกระทงในเชียงใหม่เป็นคนแรกน่าจะเป็นพระราชชายา เจ้าดารารัศมีในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๗๐ โดยจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมทั่วไปเพราะชาวล้านนายังนิยมการประดับประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน และมักจัด ตั้ง ธัมม์หลวง หรือเทศน์มหาชาติในวัน ‘เพ็ญเดือนยี่' ตามประเพณีอยู่..."
หรือบ้างก็ว่า ข้าราชการกรุงเทพฯ ที่ขึ้นไปรับราชการที่เชียงใหม่แล้วได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำปิงในยุคพระเจ้าอินทวิชยานนท์น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่นำประเพณีลอยกระทงไปเผยแพร่ ภายหลังเจ้าแก้วนวรัฐฯ เมื่อย้ายคุ้มไปอยู่ริมน้ำปิง คงจะเป็นผู้นำชาวเชียงใหม่ลอยกระทงกับข้าราชการสยาม แล้วก็ค่อยๆ เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านตามลำดับ
นั่นก็เป็น 2 ข้อสันนิษฐานความเป็นมาของประเพณียี่เป็งที่ยังมีช่องว่างให้สืบค้นต่อได้สำหรับท่านที่สนใจในด้านประวัติศาสตร์ ส่วนท่านที่รักตำนานเก่าๆ ไม่ชอบให้มีการรื้อค้นความเป็นมาก็อยากให้เปิดใจกว้างขึ้นสักนิด เพราะการเข้าใจที่มาที่ไปของประเพณีต่างๆ ไม่ได้ทำให้ประเพณีนั้นๆ เสื่อมลงดอก แต่ความเสื่อมของประเพณีจะมีก็ต่อเมื่อมันหมดความหมายต่อสังคมไปเอง