แต่พอสิ้นแผ่นดินของพระองค์ อยุธยาก็ตกอยู่ในความวุ่นวายอีกครั้ง เมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ได้ไม่นานก็มีรับสั่งให้สำเร็จโทษพระองค์เจ้าต่างมารดา 3 พระองค์ ที่มีส่วนกับการกล่าวหาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ เป็นเหตุให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศต้องโทษจนสวรรคต
ขณะเดียวกันพระองค์ก็มีความขัดแย้งกับเจ้าฟ้าเอกทัศ พระเชษฐา จนเกิดความวุ่นวาย พระองค์จึงทรงตัดสินใจสละราชสมบัติทั้งที่เพิ่งครองบัลลังก์ได้ไม่นาน เพื่อออกผนวชอีกครั้ง เปิดทางให้พระเชษฐาของพระองค์ขึ้นครองราชย์แทน
เมื่อเข้าสู่ยุคแผ่นดินของพระเจ้าเอกทัศ ได้มีบาทหลวงฝรั่งเศสรายหนึ่งกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทางเสื่อม จากการดำเนินพระราโชบายที่ต่างไปจากพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ โดยอ้างว่า พระเจ้าเอกทัศทรงปล่อยให้เจ้านายผู้หญิงในราชสำนักเข้ามามีบทบาทเสมอพระองค์ ผิดจากราชประเพณีเดิมที่เคยมีมา ดังความที่ปรากฏในจดหมายของมองเซนเยอร์บรีโกต์ ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ วันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1762 (พ.ศ. 2305) ว่า
"ตั้งแต่สมัยก่อนๆ มา พระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเท่ากับเป็นกฎหมายในเมืองนี้ ครั้งมาในบัดนี้ เจ้านายผู้หญิงทุกองค์ก็มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการก็ต้องเปลี่ยนกันอยู่เสมอ"
ประมุขมิสซังสยามในยุคนั้นยังกล่าวว่า การปล่อยให้เจ้านายผู้หญิงขึ้นมามีอำนาจคือสาเหตุที่ทำให้กฎหมายบ้านเมืองอ่อนแอ เพราะความโลภของบรรดาเจ้านายผู้หญิง
"แต่ก่อนๆ มา ผู้ที่มีความผิดฐานเป็นกบฏ ฆ่าคนตายและเอาไฟเผาบ้านเรือนต้องรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต แต่มาบัดนี้ความโลภของเจ้านายผู้หญิง ได้เปลี่ยนลงโทษความผิดชนิดนี้เพียงแต่ริบทรัพย์ และทรัพย์ที่ริบไว้ได้นั้น ก็ตกเป็นสมบัติของเจ้าหญิงเหล่านี้ทั้งสิ้น"
มองเซนเยอร์บรีโกต์ กล่าวว่า การกระทำของเจ้านายผู้หญิงได้กลายเป็นต้นแบบให้ข้าราชการสยามเอาอย่าง โดยได้ยกเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2304 ขึ้นมาอ้างว่า ข้าราชการสยามที่ภูเก็ตได้ก่อเหตุปล้นเรืออังกฤษลำหนึ่งที่เดินทางมาจากเบงกอล
และในปีต่อมา ข้าราชการภูเก็ตก็ออกอุบายปล้นเรืออังกฤษซ้ำอีก แล้วกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของพวกเข้ารีต (ชาวคริสต์) และยังไปหาแพะ โดยจับเอาบาทหลวงชาวโปรตุเกสมาทรมานจนเสียชีวิตระหว่างถูกกักขังเป็นเวลาหนึ่งเดือนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว การทุจริตของข้าราชการหรือความล้มเหลวของระบบยุติธรรมในสยามไม่ว่ายุคใดๆ ก็ตาม ต่อให้ผู้หญิงไม่ขึ้นมามีอำนาจก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียเมื่อไร ความเห็นของ มองเซนเยอร์บรีโกต์ จึงออกจะมีอคติต่อสตรีอยู่ไม่น้อย แต่บันทึกของท่านก็ฉายให้เห็นสภาพสังคมของอยุธยาก่อนสิ้นแผ่นดินได้อย่างน่าสนใจ