บาทบริจาริกาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏจะเห็นได้ว่ามีอยู่หลายรุ่น หลายชั้น ซึ่งควรแก่การกล่าวถึงรายละเอียดแห่งลักษณะความเป็นอยู่ ฐานะ และการแบ่งชั้นลำดับ ให้ได้ทราบพอเป็นสังเขป จากการที่ได้รับฟังท่านผู้ใหญ่ที่มีอายุอยู่ในรัชสมัยนั้น และเคยใช้ชีวิตในพระบรมมหาราชวัง เล่าให้ฟังว่าบรรดา เจ้าจอมนั้นแบ่งออกเป็น ๓ชั้นคือ
เจ้าจอมชั้นเล็ก
หมายถึงสตรีวัยรุ่นขึ้นไปจนถึงวัยสาว เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในชั้นแรกก็มีหน้าที่เป็น คุณพนักงานชั้นนางพระกำนัล จนกระทั่งได้เข้าถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา และได้พระราชทานหีบหมากทองคำ สำหรับเป็นเครื่องประดับยศ แสดงว่าสตรีคนนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "เจ้าจอมหีบทอง" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ได้เป็นข้าบาทบริจาริกาตามพระราชกำหนดกฏมนเฑียรบาล เป็นที่ต้องห้าม ลำดับนี้เรียกว่า "เจ้าจอมรุ่นเล็ก" จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของพระสนมชั้นผู้ใหญ่ หรือพระอัครมเหสี พระราชเทวี พระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่มีอาวุโสสูงกว่าตนที่สังกัดอยู่ เจ้าจอมชั้นกลาง
หมายถึงสตรีที่เป็นพระสนมชั้นสูงขึ้นกว่ารุ่นเล็ก หรือที่เรียกว่า "เจ้าจอมอยู่งาน" คือสตรีที่ได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา และเคยรับราชการได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำ พร้อมทั้งได้รับพระราชทานตราตำแหน่งพระสนม มีหน้าที่ขึ้นเฝ้าถวายอยู่งานการปรนนิบัติ ในพระราชานุกิจต่างๆ สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบให้ ส่วนมากเจ้าจอมรุ่นนี้จะเป็นสตรีในวัยสาว คล่องแคล่ว แข็งแรง มีรูปโฉมหน้าตางดงาม ถ้ายิ่งเป็นสตรีที่มีตระกูลกำเนิดดี ก็ยิ่งเป็นคะแนนดีมีศักดิ์ศรีสมแก่การที่จะรับใช้สนองพระยุคลบาท หากได้เข้ารับใช้ใกล้ชิดจนเป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย หรือปฏิบัติหน้าที่ดี มีความชอบก็อาจจะได้รับพระมหากรุณายิ่งๆ ขึ้นในทุกๆ ทาง "เจ้าจอมอยู่งาน" มักจะมีเรือนพักอยู่ไม่ห่างจากพระราชมณเฑียรสถาน เพราะจะต้องมีหน้าที่เฝ้ารับใช้ถวายงานเป็นประจำ แต่ก็มีอิสระที่จะอยู่รวมกันได้ ในเรือนละหลายๆ ท่าน นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปี เงินเลี้ยงชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนเครื่องประดับเพชรนิลจินดา ต่างๆ ตามความเหมาะสม
พระสนมเอก
หมายถึงบรรดาเจ้าจอมชั้นผู้ใหญ่ที่รับราชการเป็นข้าบาทบริจาริกา จนมีพระโอรส พระธิดา และได้รับขนานนามว่า "เจ้าจอมมารดา" หรือถ้าหากว่าไม่มีพระโอรส พระธิดา แต่มีอาวุโสสูงกว่าเจ้าจอมอยู่งานรุ่นกลาง และรุ่นเล็ก เจ้าจอมชั้นนี้ส่วนมากจะเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีไว้ในราชการมาแล้ว และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์คือ "ตราจุลจอมเกล้า"
สำหรับฝ่ายในชั้นสูงขึ้นตามลำดับ และเครื่องเชิดชูเกียรติอย่างอื่น อันอยู่ในขึ้นฐานันดรศักดิ์ แห่งความเป็นเจ้าจอมชั้นพระสนมเอก ท่านเหล่านี้มักได้รับพระราชทานที่พำนักให้อยู่โดยอิสระ พระราชทานเบี้ยหวัด เงินปี เบี้ยเลี้ยงชีพตามตำแหน่งให้สมเกียรติยศ อันอาจจะชุบเลี้ยงข้าทาสบริวารได้มากขึ้น บางท่านอาจได้รับฐานันดรศักดิ์สูงขึ้น อีกในด้านการรับราชการฝ่ายใน เช่น ท่านเจ้าจอมแพ ผู้ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งพระสนมเอกเป็นคนแรก ต่อมาเมื่อมีพระราชธิดา และพระราชธิดาได้เจริญพระชันษาขึ้น จนถึงได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนสุพรรณภาคยวดี และรับราชการนานพอสมควรท่านก็ได้รับการสถาปนา เพิ่มฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น "เจ้าคุณจอมมารดา" พระสนมเอก ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด เหนือบรรดาพระสนมทั้งหลาย ได้รับพระราชทานเบี้ยงเลี้ยงชีพตามตำแหน่งเกียรติยศ สำหรับการรักษาศักดิ์ศรี และมีตำแหน่งเฝ้าเหนือกว่าพระสนมทั้งปวง และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๖ ได้ทรงสถาปนาท่านเจ้าคุณจอมมารดาแพ ให้มีเกียรติสูงยิ่งขึ้นในฐานะอดีตพระสนมเอก ของสมเด็จพระบรมชนกนาถอันจัดไว้ในชั้นผู้ใหญ่ว่า "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์"เป็นต้น