อย่างไรก็ดี การวางตัวเป็นกลางของไทยมิได้หมายความว่าไทยปฏิเสธการใช้กำลัง เพราะเมื่อฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับเยอรมนี รัฐบาลชาตินิยมของไทยในสมัยนั้นก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อที่จะยึดเอาดินแดนลาวและกัมพูชาที่ตกอยู่ภายใต้ความครอบครองของฝรั่งเศสมาเป็นของไทย ทำให้ "ญี่ปุ่น" ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในอินโดจีนเข้ามาไกล่เกลี่ย และฝรั่งเศสได้ยอมมอบดินแดนบางส่วนให้กับไทยในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484
ล่วงเข้าปลายปี ในวันที่ 7 ธันวาคม ญี่ปุ่นที่เคยช่วยให้ไทยได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาจากฝรั่งเศส ได้ส่งเอกอัครราชทูตเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา 23 นาฬิกา เพื่อขออาศัยดินแดนไทยเป็นทางผ่านในการเคลื่อนทัพ ก่อนการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ในวันที่ 8 ธันวาคม เวลา 1 นาฬิกา แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ระหว่างเดินทางไปราชการที่ต่างจังหวัด ทำให้ขาดผู้มีอำนาจในการสั่งการ
ญี่ปุ่นไม่รอช้ายกพลขึ้นบกในพื้นที่ชายทะเลของไทย แม้ว่าทางการไทยจะยังมิได้ให้ความยินยอมจนนำไปสู่การสู้รบระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับเจ้าหน้าที่ไทย หลังจากที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเดินทางไปขอพบนายกรัฐมนตรีไทยเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่ไทยจะออกประกาศให้ทหารและตำรวจหยุดยิง
ประกาศของรัฐบาล
"ได้รับโทรเลขจากจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่เวลา ๐๒.๐๐ น. ว่าเรือรบญี่ปุ่นได้ยกทหารขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และบางปู ทางบกได้เข้าทางจังหวัดพิบูลสงคราม ทุกแห่งดังกล่าวแล้วได้มีการปะทะสู้รบกันอย่างรุนแรงสมเกียรติของทหารและตำรวจไทย ๐๗.๓๐ น. วันนี้ รัฐบาลไทยได้สั่งให้ทหารและตำรวจทุกหน่วยหยุดยิงชั่วคราวเพื่อรอคำสั่ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเจรจากันอยู่ ผลเสียหายทั้งสองฝ่ายยังไม่ปรากฏ"
กรมโฆษณาการ
๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
ต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม ได้มีการเรียกประชุมวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเป็นการด่วนเพื่อที่รัฐบาลจะได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางรัฐบาลได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย เพื่อไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า "เพราะไม่มีทางจะต่อสู้ต้านทานกำลังกองทัพญี่ปุ่นได้จึงยอมตามคำขอ"
"มวลสมาชิกสภาได้รับทราบดังนั้นแล้ว เพราะเหตุที่ได้กล่าวแล้วว่า คนไทยทุกคนได้รับการปลุกใจให้รักชาติ ให้ทำการต่อสู้ศัตรู ตามกฎหมายกำหนดหน้าที่ของคนไทยในการรบเมื่อทราบว่ารัฐบาลยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไป โดยไม่ได้มีการต่อสู้ตามที่เคยประกาศชักชวนปลุกใจไว้ อันตรงกันข้ามกับจิตใจคนไทยในขณะนั้น จึงทำให้การประชุมในครั้งนั้น เป็นการประชุมที่แสนเศร้าที่สุด ทั้งสมาชิกสภา รัฐมนตรี ได้อภิปรายซักถามโต้ตอบกันด้วยน้ำตานองหน้า ความรู้สึกของทุกคนในขณะนั้น คล้ายกับว่าเด็กถูกผู้ใหญ่ที่มีกำลังมหาศาลรังแก จะสู้ก็สู้ไม่ได้ ทั้งมีความวิตกว่า ประเทศไทยได้สูญเสียเอกราชอธิปไตยไปแล้ว" ประเสริฐ ปัทมะสุนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา กล่าว

Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday