ราชวงศ์ทิพจักราแห่งพระนครพิงค์เชียงใหม่ในยุคนั้น ผู้ที่เป็นคู่หมั้นที่เหมาะสมกันราวกิ่งทองใบหยกคงจะหนีไม่พ้นเจ้าอุตรการโกศล(น้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่) และเจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ ราชนารีที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยทั้งสติปัญญามาแล้วอย่างยอดเยี่ยมจากพระบรมหาราชวังอันสูงส่ง ภายใต้การปกครองของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทั้งยังเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าหญิงแห่งเชียงใหม่ที่มีสิริโฉมงดงามจนเป็นที่หมายปองแห่งเจ้านายเมืองใต้จำนวนมาก แต่ทว่าพระราชชายาทรงหมายปองให้เจ้าหญิงมาประดับคุ้มแก้วหอคำเชียงใหม่ หากไม่เกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้า จนเป็นตำนานความรักอันเลื่องลือของเจ้าชายหนุ่มและแม่ค้าขายบุหรี่แห่งเมืองมะละแหม่งเสียก่อน เจ้าหญิงบัวชุมคงไม่พ้นตำแหน่งแม่เจ้านครเชียงใหม่
เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่เป็นบุตรตรีคนสุดท้อง ลำดับที่ ๙ ของเจ้าดวงทิพย์และเจ้าคำแสน ณ เชียงใหม่ ถ้าจะนับญาติแล้วเจ้าดารารัศมีจะทรงดำรงตำแหน่งพระเชษฐภคินีของเจ้าบัวชุม เพราะเจ้าน้อยดวงทิพย์เองเป็นน้องชายของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ด้วยเช่นกัน เมื่อเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่อายุได้ ๗ ปี ได้ติดตามขบวนเรือจากเชียงใหม่มาที่กรุงเทพมหานครพร้อมกับเจ้าหญิงยวงแก้ว สิโรรส และได้พำนักอยู่กับพระราชชายาและได้ร่ำเรียนดนตรี นาฏศิลป์ อีกทั้งวิชาการเป็นอันมากจากวังหลวง จนครั้นเมื่อเจริญวัยก็ทรงสิริโฉมงดงามจนเป็นที่หมายปองของเจ้านายในราชจักรีวงศ์หลายพระองค์ซึ่งพระราชชายาทรงหวงมากเพราะเจ้าหญิงที่ทรงโปรดองค์นี้พระองค์หมายพระทัยว่าจะให้เป็นเพชรน้ำงามแห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เจ้าหญิงได้อภิเสกสมรสกับเจ้าอุตรการโกศล
หลายคนต่างมองว่าทั้งสองคนนี้คือคู่หมายที่เหมาะสมกันมาก แต่ในความคิดของผู้เขียนกลับมองว่าเจ้าน้อยศุขเกษมเองนั้นทรงให้หัวใจแก่มะเมียะไปแล้ว การแต่งงานนี้จึงไม่ได้หวานชื่นอย่างที่คิด และหากมองในมุมของเจ้าหญิงคงจะทุกข์ใจไม่น้อยที่แต่งงานกับชายที่มีใจให้หญิงอื่น ดังนั้นเมื่อตกพุ่มม่ายแต่ยังสาวหลังจากการจากไปของเจ้าน้อยศุขเกษม เจ้าหญิงบัวชุมจึงได้แต่งงานกับเจ้าไชยวรเชษฐ์หรือเจ้ามงคลสวัสดิ์ นายอำเภอสันทรายอีกครั้ง หวังจะได้เจอความรักที่งดงามและใช้ชีวิตอย่างสงบสุข แต่เหมือนมีกรรมมาแกล้งมีเหตุการณ์ให้ทั้งสองต้องเลิกรากันไปอีกหน หลังจากเหตุการณ์นี้เองผู้เขียนคิดว่าเจ้าบัวชุมคงไม่ปราถนาพบเจอความรักที่ไม่สมหวังอีกเป็นครั้งที่สาม เจ้าบัวชุมจึงได้ไปอยู่ถวายงานพระราชชายา เจ้าดารารัศมีและครองตัวอยู่อย่างนี้ไปตลอด เมื่อครั้นพระราชชายาสิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงบัวชุมจึงได้ใช้บั้นปลายชีวิตของท่านอยู่กับเจ้าหญิงวัฒนา โชตนาจนถึงแก่กรรม เมื่ออายุได้ ๘๐ ปีเศษ