‘ในปีเถาะ พ.ศ.2410 เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนกรมเจ้านายเนื่องในเหตุที่พระมหาอุปราชสวรรคตตามราชประเพณีซึ่งเคยมีมา
‘เจ้านายซึ่งโปรดให้เลื่อนกรมครั้งนั้นมี 5 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา เป็นกรมขุนบำราบปรปักษ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นราชสีหวิกรม สองพระองค์หลังนี้เป็นกรมขุนคงพระนามเดิม ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เดิมทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุระสังกาศ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเปลี่ยนพระนามกรมเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ ด้วยทรงพระราชดำริว่ากรมมเหศวรศิววิลาศ กรมวิษณุนาถนิภาธร พระชันษาไม่ยั่งยืน จะเป็นด้วยพระนามพ้องกับนามของพระเป็นเจ้าในไสยศาสตร์ จึงทรงเปลี่ยนพระนามกรมหมื่นพิฆเนศวรสุระสังกาศ เป็นกรมขุนพินิตประชานาถ
‘เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เลื่อนกรมเจ้านายครั้งนั้น เสด็จประทับที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อทรงสั่งแล้วมีพระราชดำรัสให้หาเจ้านายทั้ง 4 พระองค์นั้นเข้าไปเฝ้า ณ ที่รโหฐานตรงหน้าพระพุทธรูป แล้วมีพระราชดำรัสว่าจะทรงปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฎิมากรว่า เจ้านายซึ่งจะเป็นกรมขุน 4 พระองค์นี้ ถ้าใครได้ครองราชย์สมบัติต่อไปจะไม่ทรงรังเกียจเลย
‘เจ้านาย 3 พระองค์ ต่างกราบทูลถวายปฏิญาณว่ามิได้ทรงคิดมักใหญ่ใฝ่สูง ตั้งพระหฤทัยแต่จะสนองพระเดชพระคุณช่วยทำนุบำรุงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอให้ได้รับราชสมบัติสืบไป'