โศกนาฏกรรมรักสามเศร้าของเจ้าหญิงยวงแก้ว

ปี พ.ศ. 2449 ภายในพระบรมหาราชวัง ในสมัยนั้นผู้คนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากจะยลโฉมหญิงงามจากเมืองเหนือแล้วไซร้ ให้ไปที่ตำหนักของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ผู้เป็นพระมเหสีในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ตำหนักหลังนี้นอกจากจะเป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าฯแล้ว ยังเป็นที่อยู่ของเหล่าข้าหลวงนางในที่ล้วนแต่เป็นพระญาติ และเป็นเจ้าหญิงจากพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือทั้งสิ้น จึงทำให้ตำหนักหลังนี้อบอวลไปด้วยขนบธรรมเนียมและราชประเพณีล้านนา เช่น ทุกคนจะแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสตรีชั้นสูงในคุ้มเจ้าหลวง เกล้าอวยมวยผมอย่างสาวชาวเหนือ มีดนตรีขับร้องและฟ้อนรำเป็นเอกลักษณ์ อาหารการกินและภาษาเป็นคำเมือง

ความงามของข้าหลวงนางในตำหนักนี้ขจรขจายไปทั่วในราชสำนัก แต่ที่งามสวยรวยเสน่ห์จนลือชื่อนั้นเห็นจะเป็นเจ้าหญิงองค์หนึ่ง นามว่า "ยวงแก้ว สิโรรส" เจ้าหญิงเมืองเหนือองค์นี้มีอุปนิสัยใจคอเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวและห้าวหาญ มิค่อยจะเกรงผู้ใดนัก ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เจ้าหญิงยวงแก้วมีคู่รักเป็นผู้หญิง นามว่า "หม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพ" หญิงสาวราชนิกุลผู้นี้เป็นข้าหลวงอยู่ตำหนักของเจ้านายพระองค์หนึ่งในละแวกเดียวกัน แต่หารู้ไหมว่าหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพผู้นี้ก็มีแฟนสาวอยู่ก่อนแล้วคนหนึ่ง ชื่อว่า นางสาวหุ่น เมื่อความเป็นเช่นนี้แล้วจึงเกิดศึกชิงรักหักสามเศร้า ระหว่างนางสาวหุ่นกับเจ้าหญิงยวงแก้ว ต่างคนต่างชิงดีชิงเด่น ชิงไหวชิงพริบหวังจะเอาชนะกัน เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่พักหนึ่ง ไม่นานนางสาวหุ่นจึงปล่อยข่าวเป็นเชิงใส่ไฟเจ้าหญิงยวงแก้ว ประมาณว่าเจ้าหญิงยวงแก้วนี้หลงใหลใคร่เสน่ห์ในตัวหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพ มากมายถึงขนาดเอาทรัพย์สินมีค่าที่พระราชชายาเจ้าฯประทานให้ไปปรนเปรอหม่อม ราชวงศ์หญิงวงศ์เทพเสียหมดสิ้น

จน ในที่สุดเรื่องใส่ไฟนี้ก็แดงขึ้น รู้กันไปถึงไหนๆ สุดท้ายก็ไปถึงหูพระราชชายาเจ้าฯ พระองค์ก็ทรงกริ้วเจ้าหญิงยวงแก้วอย่างรุนแรงถึงกับเอ่ยปากให้เอาของประทาน มาคืนพระองค์ให้หมด และคาดโทษไว้ว่าจะส่งตัวกลับนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ให้เร็วที่สุด


ไม่ มีใครทราบความรู้สึกของเจ้าหญิงยวงแก้วได้ดีเท่ากับตัวของท่านเองอีกแล้ว แต่ที่รับรู้ได้ชัดเจนทั่วพระบรมหาราชวังคือ มันได้สร้างความอับอายให้เจ้าหญิงยวงแก้วเป็นอย่างมาก อายต่อเพื่อนๆข้าหลวง อายต่อผู้คนและคุณพนักงานในวัง จนไม่กล้าที่จะออกไปไหนมาไหน ปัญหาต่างๆสั่งสมมากขึ้นจนกลายเป็นความเครียด กลุ้มอก กลุ้มใจ ทุกข์ระทม อมระทวย 3วันต่อมาในคืนนั้นเองเจ้าหญิงยวงแก้วได้นอนปรับทุกข์กับ เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ เพื่อนร่วมตำหนักถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เจ้าหญิงยวงแก้วพร่ำรำพันถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นว่าแทนที่ทุกคนจะเห็นใจแต่ กลับเยาะเย้ยเหยียดหยามซ้ำเติม เจ้าหญิงบัวชุมก็ได้แต่ปลอบใจให้คลายโศกเศร้าลง แต่แล้วในคืนนั้นเองหลังจากเจ้าหญิงบัวชุมนอนหลับสนิทนั้น...

***... เจ้าหญิงยวงแก้ว จึงตัดสินใจแอบเดินขึ้นไปยังชั้นบนสุดของตำหนัก แล้วกระโดดลงมาจนถึงแก่ความตายโดยไร้คำสั่งเสีย ด้วยวัยเพียง...19ปี ปิดฉากตำนานรักสามเศร้านี้อย่างค้างคาใจหลายคน เพราะไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าเจ้าหญิงยวงแก้วจะเด็ดเดี่ยวถึงเพียงนี้


อ้างอิง: หนังสือเพชรล้านนา โดยปราณี ศิริธร ณ พัทลุง
ที่มา :: คลังประวัติศาสตร์ไทย

โศกนาฏกรรมรักสามเศร้าของเจ้าหญิงยวงแก้ว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์