เจ้าจอม ผู้ให้กำเนิด ขนมไข่หงส์!!

เจ้าจอมแว่น หรือ นางคำแว่น หรือที่เรียกกันว่า "เจ้าคุณเสือ" หรือ "คุณเสือ" พระสนมเอก ในรัชกาลที่ 1 ที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง โดยเป็นที่โปรดปรานและรับใช้อย่างใกล้ชิดและมีบทบาทสูงสุดตลอดรัชสมัยของพระองค์

เจ้าจอมแว่น เป็นเชลยศึกชาวเวียงจันทน์ เป็นนางพระกำนัลของนางเขียวค่อม พระราชธิดาของ พระเจ้าสิริบุญสาร กษัตริย์ของล้านช้าง ซึ่งได้ตามเสด็จรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่พระองค์ยังเป็นสามัญชนดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ทรงเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์และได้เชิญเสด็จพระราชบุตรในพระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) มาที่กรุงธนบุรี คือ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ แต่เจ้าพรหมวงศ์ พระอนุชาหลบหนีไปได้และพระองค์ได้รับนางคำแว่นผู้นี้เป็นอนุภรรยา

ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงว่า ท่านเป็นผู้หญิงที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับท่านผู้หญิงนาค ภรรยาเอกได้มีเรื่องวิวาทบาดหมางกันอย่างรุนแรง เพราะท่านนาคมีความหึงหวง และ ไม่ยินดีที่สามีของท่านมีหญิงอื่น ท่านนาคได้แอบซุ่มตีหัวนางคำแว่น จนเลือดอาบศีรษะจนทำให้ท่านเจ้าคุณสามีโกรธถึงกับนำดาบไล่ฟันประตูทองที่ท่านนาคหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ และต่อมาจึงได้คุณฉิม (รัชกาลที่ 2) มาช่วยพาหนีออกจากบ้านไปซ่อนตัวอยู่ในพระราชวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยพำนักอยู่ในพระตำหนักของเจ้าจอมฉิมใหญ่ ซึ่งเป็นบุตรสาวของท่าน

นับแต่นั้น ท่านผู้หญิงนาค ก็มิได้คืนดีกับท่านสามีอีกเลย ซึ่งท่านคงจะเป็นผู้หญิงใจแข็งมีศักดิ์มีศรีตามวิสัยบุตรสาวเศรษฐี และยังถือว่าเป็นคู่สามีภริยาที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ได้ผจญความลำบากยากแค้นมาด้วยกันตั้งแต่ครั้งเสียกรุง ท่านคงจะน้อยใจและเสียใจมาก ตามความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนของผู้หญิง จึงถือทิฐิมิเคยยอมเข้าไปค้างคืนในพระราชวัง แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนแปลงผลัดแผ่นดิน มีการตั้งพระราชวงศ์จักรีและได้มีการสถาปนาพระอิสริยยศและพระฐานันดรศักดิ์ตามโบราณราชประเพณีต่าง ๆ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงสนพระทัยไยดี ทรงดำรงพระองค์เช่นเดิมตามที่ทรงเคยปฏิบัติมา ทรงหยิ่ง และ ทระนงในศักดิ์และศรีในความเป็นพระองค์เองยิ่งนัก แต่เมื่อทรงพระชนม์มากขึ้นก็มิอาจทรงฝืนพระลิขิตแห่งดวงชะตาอันยิ่งใหญ่ไปได้ ต้องยอมสิ้นสุดความเป็นสามัญชนในกาลต่อมา ด้วยพระโอรสกับพระราชนัดดาที่สืบสายพระโลหิตโดยตรงของพระองค์ได้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์และได้สืบต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

สำหรับประวัติของเจ้าจอมแว่น หรือ "เจ้าคุณเสือ" มีนามเดิมคือ นางคำแว่น ธิดาเพี้ยเมืองแพน เชื้อสายกษัตริย์เมืองเวียงจันทน์ เป็นเชื้อสายลาวพุงขาว มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 ท่าน คือ 1.นางคำแว่น 2.ท้าวจาม เสียชีวิตที่เมืองขอนแก่น 3.ท้าวผาม เสียชีวิตที่เวียงจันทน์ 4.หญิงไม่ปรากฏนาม ต่อมาเป็นภรรยาท้าวคำบง ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าเมืองขอนแก่นต่อจากเพี้ยเมืองแพน


      นางคำแว่นได้รัโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าจอม ซึ่งในตอนนั้นเพี้ยเมืองแพนได้อพยพไพร่พลจากเมืองทุรคม แขวงเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านชีโล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด (เมืองสุวรรณภูมินี้ ดั้งเดิมเป็นเมืองเก่าแก่มีบทบาทสูงเกิดเป็นเมืองก่อนเมืองอื่นในภาคอีสานหลายแห่ง เช่น ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ฯลฯ) ประมาณ พ.ศ. 2332 เจ้าจอมคำแว่นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้เพี้ยเมืองแพนแยกตัวออกมาจากเมืองสุวรรณภูมิและโปรดเกล้าให้ยกบ้านบึงบอน (โนนทอง) ขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น แล้วให้เพี้ยเมืองแพนแห่งเมืองทุรคมเป็นเจ้าเมืองขอนแก่นขึ้นกับเมืองนครราชสีมา

      พ.ศ. 2339 รัชกาลที่ 1 ได้เกิดละเมอขณะบรรทมหลับทำให้ข้าราชบริพารตระหนกตกใจด้วยเกรงต่อพระราชอาญา ทำให้เจ้าจอมคำแว่นใช้ความกล้าหาญตัดสินใจกัดนิ้วพระบาทจนทำให้รู้สึกพระองค์และตื่นบรรทม เจ้าจอมจึงได้รับความดีความชอบให้เป็นที่ "ท้าวเสือ" กำกับดูแลงานราชการฝ่ายในในราชสำนักทั้งหมดและยังได้โปรดเกล้าให้เพี้ยเมืองแพน เจ้าเมืองขอนแก่นให้เป็นที่พระนครศรีบริรักษ์ ยกเมืองขอนแก่นขึ้นเป็นเมืองสำคัญปลายราชอาณาเขต ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2540 โดยมีใบตราตั้งเป็นเมืองอย่างเป็นทางการ เมื่อพระนครศรี บริรักษ์ (เพี้ยเมืองแพน) ถึงแก่อนิจกรรม ท้าวคำบัง บุตรเขยของเพี้ยเมืองแพนได้เป็นเจ้าเมืองแทนในราชทินนามเดิม นับได้ว่าเจ้าจอมแว่น เป็นพระสนมเอกที่ได้มีอิทธิพลต่อราชสำนักฝ่ายในเป็นอย่างสูง จนชาววังได้ยกย่องให้เป็น "เจ้าคุณข้างใน" ถือเป็นเจ้าคุณองค์แรกในพระราชวงศ์จักรี

"เจ้าจอมแว่น" เป็นคนที่มีความกตัญญูอย่างยิ่ง เมื่อท่านเป็นที่โปรดปรานได้รับการยกย่องและยอมรับ จนมีอำนาจราชศักดิ์ด้วยประการทั้งปวงและยิ่งใหญ่กว่าผู้ใดในราชสำนักฝ่ายในแล้ว ท่านก็มิได้ลืมวงศ์วานหว่านเครือของท่านโดยได้กราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ 1 ขอให้ท่านบิดาได้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้บิดาได้เป็นใหญ่เป็นโตในแผ่นดินตามบุญวาสนาที่บุตรสาวได้ถวายตัวรับใช้ใกล้ชิดตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ "เจ้าจอมแว่น" ก็มิได้มีพระหน่อเจ้าสืบสกุลแต่อย่างใด และ "เจ้าจอมแว่น" นั้นคงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มีสายพระโลหิตเพื่อสืบสกุลของท่าน โดยได้มีการกระทำพิธีทางศาสนาหลายอย่างหลายประการ ดังเช่นที่ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ บันทึกว่า "กระจาดคุณแว่นพระสนมเอกที่เขาเรียกกันว่าคุณเสือ แต่งเด็กศีรษะจุกเครื่องแต่งหมดจด ถวายพระเป็นสิทธิขาดทีเดียว" โดยมีความเชื่อว่าใครอยากมีลูกให้ติดกัณฑ์เทศน์กัณฑ์กุมาร แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เจ้าจอมแว่นนั้นคงอยากจะมีลูกมากเพียงไร

นอกจากนี้ เจ้าจอมแว่นยังเป็นผู้มีอุปนิสัยกล้าหาญ เด็ดขาด ไม่เกรงกลัวผู้ใด และ ยังมีความสามารถพิเศษในการมีศิลปะในการพูดการเจรจาอย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะหากพระราชวงศ์พระองค์ใดเกิดปัญหาที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้ และ ไม่กล้าที่จะเพ็ดทูลต่อรัชกาลที่ 1 ด้วยเกรงพระราชอาญาแล้วหากได้ไปปรึกษาขอความช่วยเหลือจาก "เจ้าจอมแว่น" แล้ว จะได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้สำเร็จได้ตลอด ทำให้รัชกาลที่ 1 ไม่ทรงพิโรธและพระราชทานอภัยโทษให้เสมอ จึงเป็นที่รักและเกรงพระทัยของพระราชวงศ์ชั้นสูงทุกพระองค์ เช่น ในตอนที่รัชกาลที่ 2 ได้ทรงพบรักกับเจ้าฟ้าบุญรอด ซึ่งเป็นพระธิดาของพระพี่นางพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนเกิดเรื่องทรงพระครรภ์ขึ้นมา ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูล แต่เจ้าจอมแว่นได้แก้ไขปัญหาให้จนสำเร็จ นอกจากนี้เจ้าจอมแว่นยังเป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำอาหารได้ยอดเยี่ยม เช่นรัชกาลที่ 1 ทรงอยากเสวย "ไข่เ...้ย" แต่ฤดูนั้นหาไม่ได้ เจ้าจอมแว่น จึงประดิษฐ์เป็น "ขนมไข่เ...้ย" ขึ้นถวายและต่อมาขนมชนิดนี้เปลี่ยนเป็น "ไข่หงส์" และเมื่อครั้งทำบุญใหญ่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าจอมแว่นได้ทำน้ำยาขนมจีน เพื่อเลี้ยงพระสงฆ์ แต่เพียงผู้เดียว ด้วยเกรงว่ารสของน้ำยาอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 สิ้นพระชนม์ เจ้าจอมแว่นยังคงมีบทบาทในราชสำนักฝ่ายใน ในพระฐานะของผู้อภิบาลพระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ซึ่งเจ้าฟ้าพระองค์นี้มีพระราชมารดาคือ "เจ้าทองสุก" ที่มีเชื้อสายกษัตริย์เวียงจันทน์ แต่ได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่เจ้าฟ้ายังทรงพระเยาว์ จึงได้รับการอภิบาลจากเจ้าจอมแว่นทั้งเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีและพระโอรสของพระนางทั้ง 3 พระองค์คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์และเจ้าฟ้าบัว ภายหลังเจ้าจอมแว่นได้สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ "เจ้าจอมแว่น" จะเป็นพระสนมเอกที่รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดปรานมากเพียงไร แต่หากด้วยบุญวาสนาแห่งดวงชะตาที่สูงส่งในอำนาจราชศักดิ์ในด้านหนึ่ง แต่ไม่สามารถที่จะสมหวังในอีกด้านหนึ่งคือการมีพระหน่อเจ้าสืบสกุล ทำให้เห็นถึงรักของเจ้าจอมแว่น แม้จะยิ่งใหญ่เหนือผู้ใด แต่ก็มิได้สมปรารถนาในการมีพระราชบุตรเพื่อสืบสาย จึงต้องกลายเป็นรักที่อาภัพกับเจ้าจอมแว่นอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก.


 เจ้าจอม ผู้ให้กำเนิด ขนมไข่หงส์!!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์