ตำนานรัก ลาวดวงเดือน โศกนาฏกรรมแห่งรักจำพราก ของเจ้าชายสยามและเจ้าหญิงล้านนา
กลับเป็นเรื่องราวของระทมจากความรักที่ต้องพรากจากผู้เป็นที่รัก ของเจ้าของเพลงนี้เอง...
เรื่องราวของความรักเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เสด็จไปยังเมืองเชียงใหม่ ครั้งมีชันษาเพียง ๒๑ ปี แล้วพบกับ เจ้าหญิงชมชื่น พระธิดาองค์โตของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ ว่ากันว่า เจ้าหญิงชมชื่นซึ่งอายุเพียง ๑๖ ปีนั้น เป็นกุลสตรีที่เรียบร้อยอ่อนหวานน่ารัก เจรจาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ ด้วยความงามอันน่าพิศวงประกอบกับความน่ารัก เมื่อองค์ชายได้เห็นเข้า ก็ตะลึงในความงามนั้น เกิดเป็นรักแรกพบ เจ้าหญิงชมชื่นจึงได้มีโอกาสต้อนรับเจ้าชายหนุ่มนักเรียนนอกผู้สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษพระองค์นี้หลายครั้งหลายหน นานวันเข้าพระองค์เจ้าชายเพ็ญก็ยิ่งเกิดความปฏิพัทธ์หลงใหลในเจ้าหญิงชมชื่นเป็นนิ่งนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น ให้เป็นหม่อมของพระองค์
เฒ่าแก่ข้าหลวงใหญ่ยอมจำนนต่อเหตุผลของเจ้าสัมพันธวงศ์ นำความผิดหวังกลับมาทูลให้พระองค์ชายทราบ ฝ่ายพระองค์เจ้าชายฯเองก็มีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้วโดยผู้ใหญ่จัดหาให้ การปฏิเสธดังกล่าวจากฝ่ายหญิงก็เลยทำให้ความรักของทั้งคู่กลายเป็นหมัน ไม่มีการติดต่อใดๆกันอีกเลย เพราะเหตุนั้น พระองค์ชายก็ได้รับความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะเมื่อจะมีรักครั้งแรกทั้งทีก็มีกรรมบันดาลขัดขวางไม่ให้รักสมหวังไม่ได้เชยชมสมใจ ความทุกข์โศกใดจะเทียมเทียบเปรียบปาน
จึงเสด็จกลับกรุงเทพด้วยความร้าวรานพระทัย ปล่อยให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งความรักและความหลังของพระองค์
ครั้นถึงกรุงเทพ เรื่องการสู่ขอเจ้าหญิงเมืองเหนือได้แพร่สะพัดไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ทรงทัดทานอย่างหนักหน่วง โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา แน่นอนว่าสาเหตุที่ผู้ใหญ่ทางพระองค์ชายนั้นไม่ยอมให้มีการเสกสมรสกับเจ้าหญิงเมืองเหนือเป็นเพราะเรื่องทางการเมือง ในสมัยนั้นหัวเมืองทางเหนือมีสัมพันธ์กับทั้งสยามและพม่า เป็นความสัมพันธ์ที่สยามมองว่ามีเหตุผลเคลือบแคลงและไม่วางใจ ดังนั้นจึงเกิดโศกนาฎกรรมความรักลักษณะนี้อีกหลายครั้งในสมัยนั้น เหตุก็เป็นเพราะการเมืองนั่นเอง จึงเป็นอันว่าความรักของพระองค์ประสบกับความผิดหวังอย่างสิ้นเชิงทุกประการ
พระองค์จึงทรงระบายความรักความอาลัยของพระองค์ ลงในพระนิพนธ์บทร้อง ลาวดวงเดือน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเจ้าหญิงผู้เป็นเจ้าหัวใจของพระองค์ เพื่อใช้เป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์เศร้าของพระองค์ และเป็นอนุสรณ์เตือนจิตให้สะท้อนรัญจวนหวนคำนึง
รำลึกถึงโฉมงามของเจ้าหญิง-ความรัก-ความหลัง เมื่อใดที่พระองค์ทรงรำลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น
พระองค์ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัยให้คลายเศร้า ถ้าไม่ทรงดนตรีเองก็ให้มหาดเล็กข้าหลวงเล่นให้ฟังด้วย และลาวดวงเดือนก็เป็นเพลงที่จะขาดไม่ได้ จนตลอดชีวิตของพระองค์ท่าน
หลังจากนั้น ทั้งคู่ ต่างก็ได้อภิเษกสมรสกับผู้อื่น
ไม่นาน หลังจากเหตุการณ์แห่งรักได้เพียง ๗ ปี พระองค์ก็สิ้นพระชนษ์
และเจ้าหญิงชมชื่นเอง ก็สิ้นพระชนษ์ ด้วยชันษาเพียง ๒๓ ปีเท่านั้น
แม้เรื่องราวความรักจะจบลง ทว่าบทเพลง "ลาวดวงเดือน" ยังคงก้องอยู่ ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ได้สัมผัสกับความรักที่ เจ้าชายสยาม มีต่อ เจ้าหญิงล้านนา ตราบกาลนาน...
ที่มา : เจ้านายฝ่ายเหนือ ,tnews.co.th