เจ้าน้อยผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ กับโศกนาฏกรรมรักที่เศร้าไม่แพ้รากนครา
**********************
ประโยคด้านบนนี้เป็นส่วนหนึ่งในเนื้อร้องเพลง "มะเมียะ" ที่ขับร้องเล่าต่อกันมา เพลงนี้กล่าวถึงความรักของ "เจ้าน้อยศุขเกษม" ลูกชายผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ที่ได้ไปพบรักกับ "มะเมียะ" หญิงสาวชาวพม่า แต่ท้ายที่สุดก็ต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ที่หลายคนต้องเสียน้ำตาทุกครั้งที่ได้อ่าน (เจ้าน้อยศุขเกษม คือลูกชายคนโตของผู้ครองนคร ดังนั้น จึงมีสิทธิ์ในการครองนครเชียงใหม่เป็นลำดับถัดไป)
เจ้าน้อยศุขเกษม เมื่ออายุได้ 15 ปี ได้ถูกส่งตัวไปร่ำเรียนวิชาการยังโรงเรียนเซนต์แพทริค ในเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า จนวันหนึ่ง เจ้าน้อยศุขเกษมไปเดินเที่ยวตลาด และพบกับ มะเมียะ สาวน้อยแม่ค้าขายบุหรี่ ด้วยความสวยงามอ่อนหวานของสาวน้อยชาวพม่า ทั้งสองบังเกิดจิตปฏิพัทธ์ และได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา ครั้งหนึ่งในวันพระ ทั้งสองไปทำบุญไหว้พระด้วยกันตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพม่า ทั้งคู่ได้กล่าวคำสาบานต่อหน้าพระธาตุไจ้ตะหลั่นว่า "จะรักกันเรื่อยไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรัก ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น" แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขของเจ้าน้อยและมะเมียะนั้นแสนสั้น เพราะไม่นานเจ้าน้อยศุขเกษมก็ต้องเดินทางกลับเมืองเชียงใหม่
เจ้าน้อยจึงได้ตัดสินใจให้มะเมียะปลอมตัวเป็นชายติดตามขบวนมายังเมืองเชียงใหม่ในฐานะเพื่อนหนุ่มชาวพม่า และก็พบว่า เจ้าแก้วนวรัฐ ผู้เป็นบิดา ได้จัดการหมั้นหมายเจ้าน้อยไว้กับเจ้าบัวนวล สิโรรส ธิดาคนโตของเจ้าสุริยวงษ์ก่อนแล้ว เจ้าน้อยจึงเปิดเผยเรื่องของตนกับมะเมียะ แต่ทางครอบครัวไม่สามารถรับมะเมียะเป็นสะใภ้ได้ เพราะในขณะนั้นเจ้าน้อยเป็นที่อุปราช จะเป็นเจ้าหลวงองค์ต่อไป ย่อมไม่ควรมีภรรยาเป็นหญิงต่างชาติ อีกทั้งสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นอังกฤษกำลังแผ่อำนาจ มะเมียะซึ่งเป็นคนในชนชาติภายใต้การปกครองของอังกฤษ อาจเป็นชนวนก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองที่ใหญ่โตจนเกิดความเดือดร้อนได้ในภายหลัง ทางด้านเจ้าบัวนวล คู่หมั้นได้ถอนหมั้นไปหลังจากรู้ว่าเจ้าน้อยมีมะเมียะ
เล่ากันว่าเรื่องนี้ได้ยินไปถึงสยาม รัชกาลที่ 5 และพระชายาเจ้าดารารัศมี (พระชายาผู้ที่มีบทบาททางเหนือ) เห็นว่าไม่ควรกับสถานการณ์ จึงส่งผู้สำเร็จราชการมาเจรจา บอกว่าเจ้าน้อยจะมีเมีย กี่คนไม่ใช่ปัญหาแต่ต้องไม่ใช่สาวพม่า เพราะว่าคนพม่าถือสัญชาติอังกฤษ เดี๋ยวอังกฤษจะถือโอกาสแทรกแซง ว่าแต่งกับคนพม่าก็ต้องถือว่าเป็นคนพม่าด้วย ที่สำคัญเจ้าน้อยเป็นเจ้าชายของล้านนาถูกวางตัวไว้ให้เป็นรัชทายาทล้านนา เท่ากับว่าสยามอาจต้องเสียเชียงใหม่ให้อังกฤษ ขอให้เจ้าพ่อและเจ้าแม่ยื่นคำขาดต่อเจ้าน้อยให้ส่งตัวมะเมียะกลับเมืองมะละแหม่ง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ในวันเดินทางกลับเมืองมะละแหม่งของมะเมียะ เจ้าน้อยศุขเกษม พูดภาษาพม่ากับมะเมียะได้เพียงไม่กี่คำ เธอก็ร้องไห้คร่ำครวญอย่างคนหัวใจแตกสลาย เจ้าน้อยศุขเกษมได้รับปากกับมะเมียะว่าตนจะยึดมั่นในคำปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อหน้าพระธาตุไจ้ตะหลั่นจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และได้ยืนยันกับมะเมียะว่าภายใน 3 เดือน จะกลับไปหาเธอ ท้ายที่สุดมะเมียะจึงได้คุกเข่าลงกับพื้น ก้มหน้าสยายผมออก แล้วนำมาเช็ดเท้าของเจ้าน้อยศุขเกษมด้วยความอาลัย จงรักภักดีบูชาสามีสุดชีวิต แล้วก็กอดขาร้องไห้ เจ้าน้อยเองก็ร้อง ทำเอาคนที่มามุงร้องไห้ไปทั้งเมืองด้วยความสงสารความรักของทั้งคู่ ก่อนที่จะตัดใจขึ้นไปบนกูบหลังช้างเพื่อเดินทางกลับ หลังจากวันนั้น เธอก็เฝ้าแต่รอคอยเจ้าน้อยที่ประเทศพม่าทุกวัน จนครบกำหนด 3 เดือนที่เจ้าน้อยรับปากไว้ แต่ก็ไร้วี่แวว
ทางด้านเจ้าน้อย หลังจากเศร้าจากเหตุการณ์ส่งตัวมะเมียะกลับได้ไม่นาน ก็โดนเรียกไปรับราชการที่สยาม เจ้าน้อยศุขเกษมได้รับราชการตำแหน่ง ร้อยตรีทหารบก มีบรรดาศักดิ์ เป็น "เจ้าอุตรการโกศล" และถูกจับแต่งงานกับเจ้าบัวชุม ซึ่งเป็นพระญาติ และเป็นสาวที่สวยที่สุดในตำหนักเจ้าดารารัศมี ร่ำลือกันว่าเล่นดนตรีไทยเก่ง โดยพิธีสมรสกับเจ้าหญิงบัวชุม โดยมีเจ้าดารารัศมีและเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์เป็นผู้จัดงานมงคลสมรสให้ ทางฝั่งมะเมียะเมื่อทราบข่าวการสมรสก็เสียใจมาก จนกระทั่งตัดสินใจบวชเป็นแม่ชีที่เมืองมะละแหม่ง เพื่อพิสูจน์รักแท้ว่าจะไม่มีคนใหม่
ในปลายปีเดียวกันนั้นเจ้าน้อยศุขเกษม ได้เดินทางกลับมาปฏิบัติราชการที่เชียงใหม่ เมื่อได้ยินว่าเจ้าน้อยกลับเชียงใหม่แล้ว แม่ชีมะเมียะเลยมาดักที่คุ้มแต่เจ้าน้อยไม่ยอมออกมาพบรอนานเท่าไรก็ ไม่ยอมออกมา จริงๆ แล้วเจ้าน้อยแอบดูอยู่ข้างหน้าต่างได้แต่ร้องไห้ไม่กล้าสู้หน้าที่ผิดสัญญาก็เลยฝากให้พี่เลี้ยง เอาเงิน 1 กำปั่น (ขณะนั้นประมาณ 800 บาท ถือว่าสูงมาก เพราะเงินเดือนสมัยนั้นเดือนละ 4 บาท) ไปมอบให้แก่แม่ชีเพื่อทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเป็นที่ระลึกแทนใจว่า หัวใจจะอยู่กับมะเมียะเสมอ แม่ชีเสียใจมาก บอกว่า ไม่มาขอรักคืน เพียงแต่มาถอนคำสาบานให้ ที่เคยสัญญากันว่าจะรักกันเรื่อยไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน หวังให้เจ้าน้อยได้ใช้ชีวิตที่ดีต่อไป ไม่ต้องห่วงกับคำสัญญา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มะเมียะและเจ้าน้อยศุขเกษมต่างสะเทือนใจเป็นที่สุด
หลังจากวันนั้น ที่เจ้าน้อยจากกับแม่ชีมะเมียะ ก็เอาแต่กินเหล้าไม่มีใจรักเจ้าบัวชุม ในที่สุดก็ตรอมใจตายหลังจากแต่งงานได้ไม่กี่ปีในขณะที่อายุแค่ 30 ปีเท่านั้นเอง (ในบันทึกบอกว่าพิราลัยด้วยโรคพิษสุราใน 6 ปีต่อมาหลังจากพบแม่ชีมะเมียะครั้งสุดท้าย) ส่วนมะเมียะได้ครองชีวิตเป็นแม่ชีที่มะละแหม่งตามความตั้งใจ จนกระทั่งถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ.2505 รวมอายุได้ 75 ปี เรื่องราวความรักอันลึกซึ้งระหว่างเจ้าน้อยศุขเกษม และมะเมียะ จึงกลายเป็นตำนานกล่าวขานมาจนทุกวันนี้
ส่วนเจ้าบัวชุม หลังจากสิ้นเจ้าน้อย ก็อยู่เป็นข้าบาทจาริกาจนอายุ 81 ปี เจ้าบัวนวล พระคู่หมั้นคนแรกของเจ้าน้อยได้บันทึกไว้ว่า "เมื่อแรกรู้สึกเสียหน้า แต่หลังจากนั้นก็รู้สึกเห็นใจและศรัทธาในรักแท้ของเจ้าน้อยจริงๆ ตลอดชีวิตของเจ้าน้อย รักผู้หญิงคนเดียวจนสิ้นลม คือ มะเมียะ หลังจากนั้นเรื่องของเจ้าน้อยกับมะเมียะ ก็ถูกสั่งห้ามพูดถึงไปอีกหลายสิบปีด้วยเหตุผลทางการเมือง รายละเอียดต่างๆ เลยถูกเลือนหายไปตามกาลเวลา เหลือไว้แต่ตำนานโศกนาฏกรรมความรักที่เล่าขานกัน"
พระชายาเจ้าดารารัศมี บันทึกไว้ว่า "ทรงไม่คิดว่าเจ้าน้อย จะปักใจมั่นกับมะเมียะ เจ้าดารารัศมีทรงคิดว่าหลายปีผ่านไป เมื่อได้ภรรยาที่ดีพร้อม เจ้าน้อยคงลืมความรักครั้งแรกได้ แต่เจ้าน้อยไม่ลืมจนสิ้นชีวิต"
CR::::dekdee.com,วิกิพีเดีย