ขนลุก ชั่วฟ้าดินสลายของหม่อมน้อย สร้างจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์
พะโป้มีตัวตนจริง (แต่แน่นอนว่าเรื่องราวในนวนิยายเป็นเรื่องแต่ง) เป็นชาวกะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษ เดินทางเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ที่คลองสวนหมาก เมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ต่อจากพี่ชาย คือ มองสุภอ หรือ พระยาตะก่า ซึ่งเสียชีวิต พะโป้เริ่มทำการค้าและส่งไม้จากเมืองกำแพงเพชรล่องตามแม่น้ำปิงไปยังเมืองนครสวรรค์ก่อนลงมากรุงเทพฯ เพียงระยะเวลาไม่กี่ปี เขาก็กลายเป็นคหบดีพ่อค้าไม้รายใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง
พะโป้เป็นผู้มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามาก ทรัพย์สินเงินทองบางส่วนที่ได้จากการค้าขาย ถูกนำไปเป็นทุนสำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระบรมธาตุเมืองนครชุมซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างต่อจากพี่ชาย เมื่อการบูรณะแล้วเสร็จ พะโป้นำฉัตรทองจากพม่ามายกยอดประดิษฐานบนพระธาตุ และในปัจจุบันพระธาตุนครชุมยังเป็นที่ศรัทธานับถือของชาวกะเหรี่ยงและชาวบ้านในพื้นที่โดยมิเสื่อมคลาย
บ้านของเขาที่ปากคลองสวนหมาก เรียกกันว่า "บ้านห้าง" ก็ใหญ่โตสวยงาม เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ศิลปะตะวันตก ประดับไม้ลายฉลุอย่างประณีต บริเวณโดยรอบ มีโรงช้าง โรงม้า และบ้านพักสำหรับผู้คนบ่าวไพร่มากมาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๔๙ ก็เสด็จพระราชดำเนินยังบ้านห้างแห่งนี้ สำหรับชีวิตครอบครัว แต่งงานกับอำแดงทองย้อย บุตรีผู้ใหญ่วัน ผู้ใหญ่บ้านคลองสวนหมาก มีบุตรธิดารวมกัน ๔ คน เป็นต้นสกุล "รัตนบรรพต" (อ้างอิง: ภาพพะโป้ นายห้างค้าไม้ชาวกะเหรี่ยง แต่งกายอย่างชาวพม่ามีฐานะ กับอำแดงทองย้อย ภรรยา /ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ/บรรเลง : นายสอาด/ลงสี : นายโพยม)
ที่มาจาก IG@khunchaiyod9t