งานพระศพที่เศร้าที่สุด ไม่มีเงินที่จะใช้ในการพระเมรุตามพระราชอิสริยยศ
ความเกี่ยวข้องของพระองค์กับรัชกาลต่างๆ
- เป็นลูกรัชกาลที่ 5
- เป็นน้องรัชกาลที่ 6
- เป็นพี่รัชกาลที่ 7
- เป็นป้ารัชกาลที่ 8 และ 9
เล่ากันว่า ช่วงที่ "เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์" สิ้นพระชนม์นั้น ประเทศไทยของเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก บางพระองค์ได้เสด็จออกไปอยู่หัวเมืองและหลายพระองค์เสด็จลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ
ในหนังสือ "สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ โดยคุณสมภพ จันทรประภา ได้เล่าถึงงานพระศพของ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ไว้อย่างน่าเศร้าว่า..
"...แต่มาถึงงานพระเมรุสมเด็จพระราชธิดาซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า รัฐบาลแจ้งให้ทราบว่าไม่มีเงินที่จะใช้ในการพระเมรุตามพระราชอิสริยยศ ถ้าต้องพระประสงค์จะถวายพระเพลิงก็ต้องพระราชทานเงินเอง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในเวลานั้นก็ไม่ทรงมีเงินสดมากนัก พระราชทรัพย์ที่ทรงมีก็เป็นตึกแถวที่ดินตามแบบคหบดีรุ่นเก่าๆ ทั้งหลาย ถึงกระนั้นก็ทรงยอมพระราชทานเงินเพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงสมเด็จพระราชธิดาของพระองค์เท่าที่หาได้ ให้สมพระเกียรติมากที่สุด
พระเมรุสร้างขึ้น ณ ท้องสนามหลวงอย่างเร่งรีบ ไม่ต้องพูดถึงความงาม ไม่ต้องพูดถึงความโอ่โถง ไม่ต้องพูดถึงอะไรทั้งสิ้น เพราะแม้แต่ความเรียบร้อยก็พูดได้ยาก สภาพของกระบวนแห่พระศพขะมุกขะมอม เพราะไม่มีเจ้าพนักงานมาเดิน 4 สาย ใช้ยุวชนทหารมาเดินแทน ก็เครื่องแบบยุวชนนั้น โดยทั่วไปก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะถุงเท้าและรองเท้า เป็นงานเมรุกลางเมืองที่น่าเศร้าที่สุดตั้งแต่สร้างกรุงมา
อย่างไรก็ตาม พระศพก็มาถึงท้องสนามหลวงจนได้ และต้องหยุดคอยผู้สำเร็จราชการอยู่อีกเป็นเวลานาน จึงได้เคลื่อนไปเวียนรอบพระเมรุ ได้ทราบต่อมาภายหลังว่ารัฐบาลก็ได้สังเกตุเห็นความบกพร่องต่างๆ ดังกล่าวและได้ตำหนิไปยังผู้รับผิดชอบ...."พระราชกรณีกิจของพระองค์ ในขณะมีพระชนม์ชีพ
บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างสะพาน
ในปี พ.ศ. 2443 พระองค์ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบำเพ็ญพระกุศลสร้างสะพานข้ามคลองเปรมประชากรเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 15 ปี และจะก้าวเข้าสู่พระชนมายุ 17 ปี เสมอพระเชษฐภาดาสองพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ โดยชื่อของสะพานได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "สะพานชมัยมรุเชฐ" หมายถึง พี่ชายผู้เป็นเทพ 2 พระองค์
องค์อุปถัมภ์ โรงเรียนราชินี, ราชินีบน, เบญจมเทพอุทิศ,
ยุพราชวิทยาลัย, วัฒนโนทัยพายัพ และ ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์
นอกจากนี้พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของกุลสตรีไทยและทรงทำนุบำรุงการศึกษาของสตรีจำนวนมาก อาทิ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ให้แก่โรงเรียนราชินี, สร้างโรงเรียนสตรีขึ้นอีกแห่งพร้อมทั้งประทานที่ดิน และสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประทานนามว่า โรงเรียนราชินีบน ในปี พ.ศ. 2472 ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 พระองค์ได้ประทานเงิน 6,000 บาท แก่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้รื้อถอนอาคารเดิมเพื่อสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ ทั้งยังประทานเงินอีกจำนวน 2,000 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2475 ได้ประทานเงินบำรุงโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ แห่งละ 100 บาท และทรงจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ขึ้น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยประทานอาคารพร้อมที่ดินประมาณ 4 ไร่ให้กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต่อมาคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ด้านการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงโรงพยาบาลสามเสน, โรงพยาบาลสำหรับรักษาโรคติดต่อกัน, โรงพยาบาลคนเสียจริต และโรงพยาบาลบางรัก แห่งละ 28 บาท รวมเป็นเงิน 112 บาท เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุเสมอสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และทรงประทานที่ดินสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์ (หอชาย 1) ของโรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบทูลของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นตึกสามชั้น มีมุขสามมุขทั้งทิศเหนือและใต้ จำนวนห้องพัก 100 ห้อง ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ก่อสร้างหอพักชายขึ้นใหม่ทดแทนหอเดิมที่เคยประทานที่ดินไว้ โดยสร้างเป็นตึกสิบสองชั้น ห้องพัก 160 ห้อง คงเหลือสิ่งก่อสร้างเดิมคือรั้วสามด้านและหอพระ การนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนามหอพักใหม่นี้ว่า "มหิตลาคาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา" เพื่อเป็นเกียรติแก่ทั้งสองพระองค์ โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงเปิดมหิตลาคาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2538
ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ถวายพระอารามที่กษัตริย์ทรงสถาปนาไว้
ด้านพระศาสนา พระองค์มีศรัทธาในบวรพุทธศาสนา โดยจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวาระสำคัญ อาทิ เมื่อครั้งมีพระชนมพรรษา 25 ปี ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เท่ากับพระชนมพรรษาคือ 25 ชั่ง ถวายแก่พระอารามที่บูรพมหากษัตริย์ทรงสถาปนาไว้ คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดอรุณราชวราราม, วัดราชโอรส, วัดเสนาศน์ และวัดนิเวศธรรมประวัติ พระอารามละ 5 ชั่ง
สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคพระวักกะพิการเรื้อรัง เคยเสด็จไปทรงรับการผ่าตัดที่ต่างประเทศถึง 2 ครั้ง จนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 มีพระอาการหนักอย่างน่าวิตก พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 23.15 นาฬิกา ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ที่ วังคันธวาส สิริพระชนมายุ 53 พรรษา
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้พระราชทานวังคันธวาสให้กับโรงเรียนราชินีบน เพื่อเก็บผลประโยชน์เป็นรายได้บำรุงโรงเรียน ปัจจุบันพื้นที่ของวังคันธวาสได้กลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ถนนวิทยุในปัจจุบัน
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก
- หนังสือศรีสวรินทิราฯ
- วิกิพีเดีย
- http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/04/K11952997/K11952997.html