นางนพมาศ สาวสวยวันลอยกระทง บุคคลที่ได้สมญาว่า กวีหญิงคนแรกของไทย
"การฉลองพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทัวกัน ไม่เฉพาะแต่ การหลวง จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ อันใดเกี่ยวข้อง เนื่องในการลอย พระประทีปนั้น ..แต่ควรนับว่าเป็นราชประเพณี ซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ"
ซึ่งความมุ่งหมายในการลอยกระทง มีจุดมุ่งหมายดังนี้
เพื่อขอขมาลาโทษแด่พระแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกินและใช้ และมนุษย์มักจะทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ จึงควรขอขมาลาโทษท่าน เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาท ประดิษฐานไว้บนหาดทราย แห่งนั้น
เพื่อบูชาพระอุปคุต ซึ่งชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพอย่างสูง โดยตำนานเล่าว่า อุปคุตนั้น เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่ง ที่มีอิทธิฤทธิ์ สามารถปราบมารได้ ท่านจะนั่งสมาธิอยู่บนบัลลังก์แก้ว ในท้องมหาสมุทร
เพื่อลอยทุกข์ โศก โรค ภัย และความอัปรีย์จัญไร เหมือนกับการลอบบาป ของศาสนาพราหมณ์ ถ้าใครเก็บกระทงไป เท่ากับเก็บความทุกข์ หรือเคราะห์กรรมเหล่านั้น แทนเจ้าของกระทง
นางนพมาศ เป็นธิดาพระศรีมโหสถและนางเรวดี ตามตำนานกล่าวว่านางเกิดเมื่อปีมะโรง ฉศก ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๘๔๗ จุลศักราช ๖๖๖ ในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นหญิงรูปงาม มีคุณธรรมความดีล้ำเลิศ เพราะได้รับการอบรมจากบิดาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะในทางพุทธศาสนา อักษรศาสตร์ การช่าง การดนตรี การขับร้อง นางนพมาศได้ถวายตัวเป็นสนมของพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์ลำดับที่๕ แห่งกรุงสุโขทัย ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ทำหน้าที่ขับร้องถวาย
นางนพมาศเป็นผู้แต่งหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงกำเนิดของนางนพมาศ การถวายตัวเข้ารับราชการเป็นข้าราชการฝ่ายใน ข้อควรปฏิบัติของสตรี ประเพณีต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย และสั่งสอนถึงข้อควรประพฤติปฏิบัติของข้าราชการฝ่ายใน ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวรรณคดีร้อยแก้วที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่ง โบราณคดีสโมสรได้ประทับตรามังกรให้เพื่อรับรองว่าเป็นหนังสือที่แต่งดี จึงนับได้ว่านางนพมาศเป็นกวีหญิงคนแรกของไทย
ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวถึงการที่นางนพมาศประดิษฐ์กระทงถวายดังนี้"...อยู่ได้ห้าวัน ภอถึงพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญ เดือนสิบสองเปนนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาชนประชาชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร แล้วก็ชวนกันเล่นมหรสพสิ้นสามราตรีเป็นเยี่ยงอย่าง แต่บรรดาข้าเฝ้าฝ่ายราชบุรุษนั้นต่างทำโคมประเทียบบริวารวิจิตร ด้วยลวดลายวาดเขียนเป็นรูปแลสันถานต่าง ๆ ประกวดกัน มาชักมาแขวนเป็นระเบียบเรียบรายตามแนวโคมไชยเสาระหงตรงหน้าพระที่นั่งชลพิมาน ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระมหาเกษธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงษ์ ฝ่ายพระสนมกำนัลก็ทำโคมลอยร้อยด้วยบุปผาชาติเป็นรูปต่าง ๆ ประกวดกันถวายให้ทรงอุทิศบูชาพระบวรพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานยังนัมทานที แลข้าน้อยก็กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมกำนัลทั้งปวง จึ่งเลือกผะกาเกสรศรีต่าง ๆ ประดับเป็นรูปดอกกระมุทบาน กลีบรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนศรีสลับให้เปนลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเปนรูปมยุระคะณานกวิหคหงษ์ ให้จับจิกเกสรบุปผาชาติอยู่ตามกลีบดอกกระมุทเปนระเบียบเรียบเรียง วิจิตรไปด้วยศรีย้อมสดส่างควรจะทัศนายิ่งนัก..."
ด้วยเหตุนี้เราจึงถือว่านางนพมาศเป็นผู้คิดประดิษฐ์กระทงลอยเป็นรูปดอกบัว นับแต่นั้นมาคนทั้งหลายก็ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวเช่นเดียวกับนางนพมาศลอยไปตามกระแสน้ำในคืนวันลอยกระทง แต่ในปีนี้มีผู้คิดประดิษฐ์กระทงขนมปังแทนกระทงใบตอง นับเป็นกระทงแบบใหม่ซึ่งดูเหมือนจะได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ
ที่มาจาก ::: gotoknow.org