นี่คือโฉมหน้า ผู้ใหญ่บ้านคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ความเป็นมา
พระยารัตนกุลอดุลยภักดี หรือ นายจำรัส รัตนกุล ผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนแรกของประเทศไทย เกิดในรัชกาลที่ ๔ ตรงกับวันอังคารที่ ๒๒ พ.ศ. ๒๔๐๒ ปีมะแม เป็นบุตรหลวงพิเศษสุวรรณกิจ (ชื่น) ซึ่งหลวงพิเศษสุวรรณกิจ เป็นบุตรพระราชสมบัติ บุตรเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (ถุน) สมุหนายกคนแรกของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นตระกูล " รัตนกุล "
เมื่อจบการศึกษา ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงได้เลือก นายจำรัส รัตนกุล ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนวรกิจพิศาล เป็นผู้รักษาพระราชวังบางปะอินและได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นหลวงราชภพบริหารตำแหน่งเจ้ากรมรักษาพระราชวังคนแรก เมื่อมีการโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ได้ทรงเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้มีการปรับปรุงกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ โดยหลวงเทศาวิตรวิจารณ์ได้ทดลองจัดตั้งหมู่บ้าน / ตำบลขึ้นในปี ๒๔๓๕ ราษฎรชาวบางปะอินได้เลือกหลวงราชภพบริหาร (จำรัส รัตนกุล) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เมื่อประชุมผู้ใหญ่บ้านเพื่อเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งหลายก็พร้อมใจกันเลือกหลวงราชภพบริหารเป็นกำนันคนแรกประจำตำบลบ้านเลน ซึ่งนับเป็นกำนันคนแรกของประเทศไทยต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภออุไทน้อย (อำเภอบางปะอินปัจจุบัน ) ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ หลวงราชภพ - บริหาร ขณะดำรงตำแหน่งนายอำเภออุไทน้อย ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิเศษไชยชาญตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง
พ.ศ.๒๔๔๒ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอมรินทรฤาไชย
พ.ศ. ๒๔๔๕ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี พ.ศ. ๒๔๔๗ ลาออกจากราชการเนื่องจากป่วย
พระยาอมรินทรฤาไชย (นายจำรัส รัตนกุล) ไม่มีบุตร, ธิดา และได้ถึงอนิจกรรมที่บ้านบางกระบือ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๕ อายุได้ ๖๓ ปีเศษ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระราชทานเครื่องประดับศพได้รับพระราชทานพานทองเป็นเกียรติยศ และได้ตั้งพระราชทานบัญญัตินามสกุลพระยาอมรินทรฤาไชย ได้รับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัมญาบัตรให้มีพระราชทินนามว่า พระยารัตนกุลอดุลยภักดี ต้นสกุล "รัตนกุล" เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน ได้แก่ ทวีติยาภรณ์มงกุฎสยา ทุติยจุลจอมเกล้า ตริตราภรณ์ช้างเผือก และเหรียญราชรุจิทอง